วันนี้ (29 ม.ค.) โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายไกรยส
ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)
กล่าวในการเสวนาปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตอนหนึ่งว่า
การจัดศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน
จำเป็นที่ที่จะต้องพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะในการประกอบ อาชีพด้วย
เพราะข้อมูลจากหลายแหล่งสะท้อนว่า
เด็กไทยจำนวนมากต้องเข้าสู่ตลาดแรงานโดยไม่มีโอกาสได้เรียนต่อระดับอุดม
ศึกษา โดยข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2557 ระบุว่า เยาวชนอายุ 15-19
ปี(วัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน) จำนวน 4.74 ล้านคน
กำลังเรียนอยู่ในระบบการศึกษา 3.33 ล้านคน เลิกเรียนไปแล้วถึง 1.41 ล้านคน
หรือ ร้อยละ 29.63
ส่วนใหญ่เด็กที่ออกกลางคันไม่ได้เต็มใจออกจากการเรียนก่อนวัยอันควร
แต่จำเป็นต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานเพราะความยากจน
เพราะฉะนั้นจึงทำให้ประชากรวัยแรงงานของไทยมีการศึกษาเฉลี่ยต่ำ โดยพบว่า
ประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-60 ปี) จำนวน 39 ล้านคน
มีผู้ที่จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ถึงร้อยละ 48.6 หรือ
19.5 ล้านคน
นายไกรยส กล่าวต่อไปว่า
การวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนผู้เข้าสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน
หรือ โอเน็ต ก็สะท้อนชัดเจนว่า มีเด็กออกกลางคันจำนวนมาก
โดยจากการติดตามข้อมูลการเข้าสอบโอเน็ตของเด็กที่เกิดในปี 2538 พบว่า
เด็กที่เกิดในปีนี้ทั้งหมด 928,956 คน เข้าสอบโอเน็ตระดับชั้น ม.3 ในปี
2554 จำนวน 804,822 คน พอถึงปี 2557 เหลือเข้าสอบโอเน็ตระดับชั้น ม.6 แค่
411,195 คน หายไป 237,237 คน หรือ 29.5%
ส่วนการติดตามข้อมูลของเด็กที่เกิดปี 2541 ทั้งหมด 862,260 คน พบว่า
เข้าสอบโอเน็ตระดับชั้น ป.6 ในปี 2554 จำนวน 805,086 คน พอถึงปี 2557
เหลือเข้าสอบโอเน็ตชั้น ม.3 แค่ 680,348 คน หายไป 124,738 หรือ 15.5%
“ ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า มีเด็กที่เกิดในปี 2538 และ 2541
หายไปจากระบบการศึกษาทั้งสิ้น 361,975 คน คิดเป็น 40%
เมื่อดูข้อมูลการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา พบว่า เด็กที่เกิดในปี 2538
และ 2541 เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพแค่ร้อยละ 40
อีกร้อยละ 20 เข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยวุฒิ ม.6 เพราะฉะนั้นเท่ากับว่า
เด็กไทยร้อยละ 60 หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนเข้าระดับอุดมศึกษา โดย 2 ใน 3
หรือเกือบร้อยละ 40 ออกไปด้วยวุฒิการศึกษาไม่เกิน ม.3“ นายไกรยส
กล่าวและว่า ส่วนเด็กที่เข้ามหาวิทยาลัยได้ประมาณ 400,000 คนต่อปี มี 1 ใน
10 คน ใช้เวลาเรียนมากกว่า 4 ปี หรือต้องเปลี่ยนสาขา
และมีเด็กที่เรียนไม่จบถึง 145,000 คน ส่วนเด็กที่จบนั้น
สามารถหางานทำในปีแรกได้แค่ 105,000 คน ว่างงานในปีแรก 150,000 คน
นายไกรยส กล่าวด้วยว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย
ควรให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาของเด็กที่ไม่ได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา
ด้วย โดยให้เด็กที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานมีทักษะในการประกอบอาชีพ
ดูแลตัวเองและครอบครัวได้
นอกจากนี้ควรขยายหลักสูตรท้องถิ่นให้โรงเรียนมีอิสระในการจัดการศึกษา
เพื่อส่งเสริมอาชีพหลังจบการศึกษา
หรือให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของระบบแรงงาน
เพราะวิธีดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาเด็กออกจากระบบการศึกษากลางคัน
และยังสามารถเพิ่มประชากรวัยแรงงานที่มีความรู้ ความสามารถอีกด้วย.
ที่มา เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี 29 มกราคม 2558