![]() |
อึ้ง! สสวท.เผยผลประเมินการใช้ไอทีทั่วโลก เด็กไทย อยู่อันดับรองบ๊วย ค่าเฉลี่ยต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ครูไทย 8% ไม่เคยสัมผัสคอมพ์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส นายชัยวุฒิ
เลิศวนสิริวรรณ ผู้ช่วยนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้
สถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าวผลการวิจัยโครงการประเมินการเรียนรู้คอมพิวเตอร์
และสารสนเทศ (Internatial Computer and Information Literacy Study ;
ICILS) ของนักเรียนไทยเทียบกับนานาชาติ โดยมีนายพินิติ รตะนานุกูล
เลขาธิการสภาการศึกษา และนางสุพัตรา ผาติวิสันต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ
สสวท.ร่วมแถลงข่าว ว่าโครงการ ICILS
จัดขึ้นโดยสมาคมนานาชาติที่ทำหน้าที่ประเมินผลด้านการศึกษา (ไออีเอ)
เกี่ยวกับการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผลปรากฏว่าเด็กไทยมีคะแนนอยู่ในอันดับที่ 13 จาก 14 ประเทศ ทั้งนี้
การประเมินดังกล่าว ทางไออีเอได้สอบถามผู้บริหารโรงเรียน ครู นักเรียน
และผู้รับผิดชอบด้านไอซีทีของโรงเรียนในเรื่องต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการใช้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศ ประเทศที่เข้าร่วมโครงการประเมินครั้งนี้มี 20 ประเทศ ดังนี้ ออสเตรเลีย
อาร์เจนตินา แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ ชิลี โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก
ฮ่องกง เยอรมนี เกาหลีใต้ ลิธัวเนีย เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์
สาธารณรัฐสโลวัก สโลวีเนีย รัสเซีย ตุรกี และไทย
มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเข้าร่วมประเมิน 59,430 คน
ในส่วนของไทยได้ใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้น ม.2 ในสถานศึกษาทุกสังกัด
3,646 คน จาก 198 โรงเรียน อย่างไรก็ตาม ในการประเมินครั้งนี้
อาร์เจนตินาและแคนาดา ขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ก่อน อีก 4 ประเทศ ได้แก่
เดนมาร์ก ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์
ข้อมูลไม่ครบตามที่โครงการกำหนด จึงถูกตัดสิทธิ
ส่งผลให้เหลือประเทศที่เข้ารับการประเมินทั้งหมด 14 ประเทศ นายชัยวุฒิกล่าวต่อว่า ทั้งนี้
โครงการได้กำหนดให้ค่าคะแนนเฉลี่ยของผลการทดสอบเท่ากับ 500 คะแนน
โดยผลประเมินพบว่า ประเทศที่ได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ตั้งไว้ อันดับ 1
สาธารณรัฐเช็ก 553 คะแนน รองลงมา ออสเตรเลีย 542 คะแนน โปแลนด์และนอร์เวย์
537 คะแนน เกาหลีใต้ 536 คะแนน เยอรมนี 523 คะแนน สาธารณรัฐสโลวัก 517
คะแนน รัสเซีย 516 คะแนน โครเอเชีย 512 คะแนน และสโลวีเนีย 511 คะแนน
ส่วนประเทศที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ตั้งไว้คือ ลิธัวเนีย 494 คะแนน
ชิลี 487 คะแนน ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 13 ได้ 373 คะแนน ซึ่งเป็นอันดับที่
2 นับจากอันดับสุดท้าย และประเทศที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ ตุรกี 361 คะแนน นายชัยวุฒิกล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาผลการประเมินในแต่ละด้าน
พบว่าคะแนนด้านการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศของนักเรียนมีความสำคัญอย่างมาก
ต่อค่าดัชนีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของแต่ละประเทศ
โดยประเทศที่มีค่าดัชนีการพัฒนาด้านดังกล่าวสูง ก็มีแนวโน้มที่ผลคะแนนจะสูง
สำหรับไทยมีค่าดัชนีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีไอทีต่ำที่สุด นอกจากนี้
ยังพบว่าพื้นฐานทางสังคม และเศรษฐกิจของผู้ปกครอง
มีความสัมพันธ์กับคะแนนด้านการรู้คอมพิวเตอร์และสารสนเทศของนักเรียน
ถ้าผู้ปกครองมีพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูง
ก็มีแนวโน้มที่นักเรียนจะมีคะแนนสูงตามไปด้วย ซึ่งนักเรียนไทย 61%
มีผู้ปกครองที่มีพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ
จึงส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยต่ำลงไปด้วย นายชัยวุฒิกล่าวว่า ขณะเดียวกันยังพบว่าครอบครัวที่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้าน
จะทำให้นักเรียนมีคะแนนสูงขึ้น
ซึ่งในไทยยังมีครอบครัวที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้านถึง 28% ปัจจัยต่อมา คือ
สัดส่วนนักเรียนต่อคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน
พบว่ายิ่งสัดส่วนนักเรียนต่อคอมพิวเตอร์น้อย คะแนนเฉลี่ยจะยิ่งสูง
และประสบการณ์การใช้คอมพิวเตอร์ของครูมีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
ซึ่งในไทยพบว่ามีครูที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์อยู่ 8% ขณะที่ประเทศอื่นๆ
ที่ร่วมประเมินอยู่ที่ 5% จากการประเมินครั้งนี้
มีข้อเสนอแนะว่าควรจะต้องปรับปรุงสาระการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลาง
ที่แสดงให้เห็นกระบวนการ และทักษะที่จะเกิดกับผู้เรียน
โดยเฉพาะทักษะที่ทำให้เกิดการคิดวิเคราะห์
รวมทั้งควรปรับวิธีการวัดและประเมินผลให้สอดคล้องกัน
เพราะปัจจุบันครูเน้นสอน และวัดผลแต่โปรแกรมสำนักงาน
ไม่ฝึกให้เด็กรู้จักใช้ทักษะ และกระบวนการแก้ปัญหา นอกจากนี้
ต้องปรับโครงสร้างหลักสูตรวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
มาอยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
จากปัจจุบันที่อยู่ในกลุ่มสาระการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี ฉะนั้น
ควรจัดอบรมครูในทุกวิชาให้ใช้ไอซีทีในการเรียนการสอนได้
เปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าถึง
ไอซีทีเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งในโรงเรียน
และที่บ้านนายชัยวุฒิกล่าว ด้านนายพินิติกล่าวว่า หลังจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะนำผลการประเมินครั้งนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลที่นำไปใช้ในการปฏิรูปการ ศึกษาภาพรวมของประเทศ โดยต้องนำผลประเมินมาวิเคราะห์ และปรับตามข้อเสนอแนะ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ครู นักเรียน และหลักสูตร
|
โพสเมื่อ : 24 พ.ย. 57 อ่าน 1410 ครั้ง คำค้นหา : |