![]() |
ศธ.ประกาศนโยบาย ให้ปี 2558 ปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คลอด 3 มาตรการดำเนินงานเร่งด่วน มั่นใจแก้ปัญหาได้แน่ แต่อยากให้การศึกษาไทยก้าวหน้า ทีดีอาร์ไอบอกครูต้องปรับทักษะการสอน ลดท่องจำ เน้นวิเคราะห์ วันที่ 12 ม.ค. ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) แถลงประกาศนโยบายของ ศธ. ให้ปี
2558 เป็นปี "ปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้"
เนื่องจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า
มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ทั่วประเทศราว
26,000 คน โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการย้ายถิ่นฐาน เป็นคนชายขอบ
กลุ่มชาติพันธุ์ และต่างด้าว
จนกลายเป็นปัญหาสำคัญในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่ตัวเด็ก พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า
ปัญหาเด็กไทยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในปีนี้
ศธ.จึงกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วน เพื่อดำเนินการให้เด็กทุกคนอ่านออกเขียนได้
อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการศึกษาในรายวิชาอื่นต่อไป ขณะที่ ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในปัจจุบันว่า ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยทุ่มงบประมาณด้านการศึกษาไปถึง 4.2 แสนล้านบาท แต่กลับไม่ได้คุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นโดยเห็นได้จากผลสะท้อนของการทดสอบ ระดับนานาชาติอย่าง Program for International Student Assessment (PISA) และผลการสอบ Trends in International Mathematics and Science Study (TIMSS) ที่ระบุว่า ผลการเรียนของเด็กไทยในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ไม่ได้มีการพัฒนาและต่ำลงอย่างต่อเนื่อง "ปัญหาของระบบการศึกษาไทยไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนงบประมาณ แต่อยู่ที่ความด้อยประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร และการการขาดแคลนครูที่มีทักษะในสาขาวิชานั้นๆ และเมื่อพิจารณาในภาพรวมพบว่าเด็กไทยยังอ่อนใน 3 วิชาหลัก ทั้งภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ถึงแม้ว่านักเรียนไทยจะใช้เวลาในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนถึง 6 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่านักเรียนในประเทศเกาหลี แต่ผลการสอบระดับนานาชาติกลับได้คะแนนต่ำกว่า" นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอแจงเพิ่ม ดร.ตรีนุช ให้ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวว่า การพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรการเรียนการ สอนแต่ละวิชาใหม่ โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึง 3 เรื่อง หลัก ประกอบด้วย 1. การจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวแก่นักเรียนยากจนเพิ่มเติม ซึ่งเงินอุดหนุนเพียงปีการศึกษาละ 1,000 บาทต่อหัวไม่เพียงพอต่อการยกระดับการศึกษ 2. การเพิ่มความรับผิดชอบของผู้อำนวยการโรงเรียนและครู ต่อผลการเรียนของเด็กให้มีความสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น และ 3. การปรับเปลี่ยนการผลิตครูและการคัดเลือกครูที่มีคุณภาพ ด้วยการคัดครองบุคลากรที่เก่งเข้าสู่ระบบและเป็นไปตามความต้องการของ โรงเรียน ขณะเดียวกันต้นสังกัดที่ทำหน้าที่ผลิตครูรุ่นใหม่ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตร การฝึกครูให้สามารถสอนได้หลากหลายวิชา โดยเฉพาะวิชาหลัก อาทิ ครู 1 คน มีทักษะการสอนวิชาคณิตศาสตร์เป็นหลัก แต่สามารถสอนวิชาวิทยาศาสตร์ได้ด้วย เป็นต้น สิ่งนี้จะสามารถตอบโจทย์เรื่องการขาดแคลนครูในวิชาหลักได้ "ในส่วนของบุคลากรครู ควรปรับเปลี่ยนวิธีการสอนโดยลดการสอนนักเรียนแบบท่องจำ แล้วปรับเปลี่ยนเป็นการสอนแบบให้นักเรียนคิดวิเคราะห์และค้นคว้าหาคำตอบด้วย ตนเองมากขึ้น โดยครูควรเป็นแรงผลักดันให้นักเรียนมีวินัยและมีความสนใจที่จะเรียนรู้ด้วย ตนเอง หากการศึกษาของไทยมีคุณภาพที่ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ จะทำให้เด็กไทยในอนาคตเสียโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี" นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ กล่าว นสพ.ไทยรัฐ |
โพสเมื่อ : 13 ม.ค. 58 อ่าน 1286 ครั้ง คำค้นหา : |