รมช.ศธ. ลง ปัตตานี-ยะลา มอบนโยบายพัฒนาการศึกษาเอกชน จชต.



"สุรเชษฐ์" รมช.ศธ. ลงพื้นที่ ปัตตานี-ยะลา ประชุมพัฒนาศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมขอบคุณภาคเอกชน ร่วมสนับสนุนการศึกษาแบ่งเบาภาระรัฐ คาดหลักสูตรอิสลามศึกษาผ่านความเห็นชอบ ก.ย.นี้

พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา ระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม เป็นประธานการประชุมพร้อมมอบนโยบายเพื่อพัฒนาการศึกษาเอกชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารจากกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสถานศึกษา และเพื่อนครู ว่า ปัจจุบันการศึกษาเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการพัฒนาคนจนไปสู่การพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ และการที่ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้วยนั้น กระทรวงศึกษาธิการถือว่าเป็นการช่วยเหลือรัฐ หรือแบ่งเบาภาระของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญมาก

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องมาร่วมกันจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ตามความต้องการของคนในพื้นที่ อัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น และตามหลักศาสนา ลดการออกกลางคันของนักเรียน การใช้งบประมาณ และทรัพยากรที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในขณะเดียวกัน รัฐหรือกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะมีหน้าที่ในการส่งเสริมภาคเอกชนให้สามารถจัดการการศึกษาได้อย่างคล่องตัว ต่อเนื่อง และประสบผลสำเร็จทั้งตัวนักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียน

​รมช.ศึกษา กล่าวต่อว่า ความสำเร็จหรือการดำเนินการดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพได้นั้น จำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจในแนวนโยบายของรัฐ และกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและความต้องการจากผู้บริหาร ครู และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ จัดลำดับความสำคัญก่อน-หลัง และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงตามความต้องการของพวกเรา คือการร่วมกันพัฒนาการศึกษาเอกชนอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการกำหนดจุดเน้นยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษา อาทิ หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้
​​การผลิตและพัฒนาครู การทดสอบ การประเมิน การประกันคุณภาพ และการพัฒนามาตรฐานการศึกษา เป็นต้น โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ

​​​นอกจากนี้ เรื่องการประกาศใช้หลักสูตรอิสลามศึกษา ฟัรฎูอีน ประจำมัสยิด ระดับอิสลามศึกษาตอนต้น (อิบติดาอียะฮฺ) พุทธศักราช 2559 หรือ ฮิจเราะห์ศักราช 1437 ซึ่งเรื่องนี้ความก้าวหน้าในปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอนำเข้าสู่คณะกรรมการการศึกษาเอกชน ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน คาดว่าในห้วงกลางเดือนกันยายนนี้จะผ่านความเห็นชอบ และมีการประกาศใช้ต่อไป.

ที่มา : นสพ.ไทยรัฐ


โพสเมื่อ : 22 ส.ค. 59   อ่าน 1360 ครั้ง      คำค้นหา :