อาชีวะสอนสายอาชีพ ร.ร.มัธยม ช่วยเด็กทำงานได้หลังเรียนจบ




      

อาชีวะสอนสายอาชีพ ร.ร.มัธยม ช่วยเด็กทำงานได้หลังเรียนจบ

 

          อาชีวะ รุกหนัก จัดสอนสายอาชีพในโรงเรียนมัธยม ในโครงการ โรงเรียนมัธยมอาชีพ เริ่ม 6 โรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล จับมือ สพฐ. ขยายการสอนอาชีพในโรงเรียนอย่างจริงจัง พร้อมของบสภาวิจัยแห่งชาติมาวิจัยขยายผลสู่โรงเรียนอื่น ต่อไป
          นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะเดินหน้าจัดการศึกษาสายอาชีพในโรงเรียนมัธยมศึกษาอย่างจริงจัง ภายใต้โครงการที่ใช้ชื่อว่า โรงเรียนมัธยมอาชีพ โครงการนี้จะเป็นความร่วมมือระหว่าง สอศ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนสายอาชีพในรูปแบบที่หลากหลายในโรงเรียนมัธยมศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีอัตราเรียนต่ออุดมศึกษาต่ำ ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้สายอาชีพติดตัว นำไปใช้ในการประกอบอาชีพหลังสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมได้
          นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความร่วมมือกับโครงการกองทุนการศึกษา ซึ่งมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานกรรมการบริหารโครงการ   ร่วมกันจัดการศึกษาสายอาชีพในโรงเรียนมัธยมศึกษาเป้าหมาย ทั้งนี้ เพราะประธานกองทุนฯ ได้ลงพื้นที่ห่างไกล พบว่า โรงเรียนมัธยมทุกสังกัดทั้ง สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) นั้น มีนักเรียนที่จบมัธยมปลายจำนวนมากไม่ได้เรียนต่อ หรือเรียนต่อแบบไม่รู้อนาคต จึงได้ทำความร่วมมือกับ สอศ.เริ่มจัดการศึกษาสายอาชีพในโรงเรียนป่าเด็งวิทยา อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งมีอัตราเรียนต่อต่ำ โดยให้วิทยาลัยการอาชีพบ้านลาดเข้าไปช่วยจัดให้ ปัจจุบันกำลังขยายผลเป็นทั้งหมด 6 โรงเรียน คือ โรงเรียนป่าเด็งวิทยา โรงเรียนศรีสวัสดิ์พิทยาคม จ.กาญจนบุรี โรงเรียนหนองปรือพิทยาคม จ.กาญจนบุรี โรงเรียนบ้านห้วยทรายประชาสรรค์ จ.เพชรบุรี โรงเรียนซับม่วงวิทยา จ.สระแก้ว และโรงเรียนวังไพรวิทยาคม จ.สระแก้ว
          ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะไปเสนอแผนจัดอาชีวศึกษาในโรงเรียนทั้ง 6 แห่ง โครงการกองทุนการศึกษา ซึ่งตั้งใจว่าจะให้จัดทำเป็น 6 รูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ เพราะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะใช้โอกาสนี้ ในการทำวิจัยเรื่องนี้ โดยจะของบจากสภาวิจัยแห่งชาติมาดำเนินการ แล้วจะนำผลจากการนำร่องนี้ ไปขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป
          นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีโรงเรียนมัธยมศึกษาประมาณ 80 แห่ง เปิดสอนสายอาชีพในโรงเรียนอยู่แล้ว แต่เป็นความร่วมมือในระดับโรงเรียน ต่างจากครั้งนี้ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือในระดับกรม ซึ่งจะทำให้เกิดการดำเนินการอย่างจริงจังขึ้น

 

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


โพสเมื่อ : 27 ม.ค. 57   อ่าน 1512 ครั้ง      คำค้นหา :