![]() |
ผลวิจัย ม.เกษตร ชี้ 'อ่าวพร้าว' เริ่มดีขึ้น หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.เกษตร เผยผลวิจัยเกาะเสม็ด หลังน้ำมันรั่ว พบปะการังฟอกขาวลดลง สัตว์ทะเลเริ่มดีขึ้น แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ ขอเวลาอ่าวพร้าวฟื้นตัว 1 ปีค่อยวางแผนฟื้นฟู ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยผลการสำรวจเฝ้าติดตามระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมบริเวณอ่าวพร้าวหลักจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ว่า จากการติดตามอย่างต่อเนื่องกว่า 6 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์ พบปริมาณสารไฮโดรคาร์บอนลดลง ปะการังเริ่มฟื้นตัวจากภาวะฟอกขาวเฉียบพลันและบางส่วนเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ สัตว์น้ำเริ่มกลับเข้าสู่พื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 1-2 ปี ปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน ที่สะสมอยู่ในตะกอนทรายอ่าวพร้าวมีปริมาณลดลงตามลำดับ ปะการังมีการฟื้นตัวจากการฟอกขาวอย่างเฉียบพลันบางส่วน อย่างไรก็ตาม ต้องมีการติดตามศึกษาอย่างใกล้ชิด โดยการฟอกขาวของปะการังจากน้ำมันรั่วครั้งนี้อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 5-7 ปี จึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ ผศ.ดร.ธรณ์กล่าว อย่างไรก็ตาม ในอนาคตปะการังในพื้นที่ดังกล่าวยังอาจจะต้องเผชิญกับภาวะน้ำทะเลที่อุณหภูมิสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนอีกระลอก ซึ่งปะการังฟอกขาวที่เกิดจากการรั่วไหลของคราบน้ำมันนั้น เป็นการฟอกขาวแบบเฉียบพลัน ผลดีคือสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ต่างกับการฟอกขาวที่เกิดจากภาวะโลกร้อนหรืออุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น ที่ค่อยๆ เกิดและอาจจะต้องใช้เวลายาวนานในการกลับสู่สภาพเดิม นอกจากนี้ กลุ่มนักวิจัย ยังได้ตรวจสอบสัตว์ที่อาศัยอยู่หน้าดินพบปูทหารบริเวณหาดทรายที่ได้หายไปหมด มีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 40 ตัว ต่อตารางกิโลเมตร ในเดือนมกราคมจากเดิมที่จะมี 80 ตัว ต่อตารางกิโลเมตร ผศ.ดร.ธรณ์ย้ำว่า แม้น้ำทะเลกลับคืนสู่ภาวะปกติกว่า 90% มีปริมาณไฮโดรคาร์บอนเหลือไม่ถึง 1 ไมโครกรัมต่อลิตร สามารถเล่นน้ำได้ จับสัตว์น้ำมากินได้ โดยไม่เกิดอันตราย ในขณะที่คราบน้ำมันในดินยังลดลงไม่ถึง 50% ซึ่งน่ากังวลมากกว่า แต่ประเทศไทยยังไม่มีค่ามาตรฐานในการตรวจสอบปริมาณน้ำมันในดิน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันมาตรฐานดังกล่าวให้เกิดขึ้นในประเทศไทย หากถามว่าเวลานี้สภาพในพื้นที่อ่าวพร้าวเข้าสู่ภาวะปกติแล้วหรือยัง ตอบได้เลยว่ายัง และยังคงต้องติดตามเพื่อเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าในเวลานี้ เรายังไม่พบว่า มีการสะสมในสัตว์น้ำจนถึงขั้นห้ามนำไปรับประทาน แต่ในอนาคต ทั้งปลาและหอยที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว อาจจะมีการสะสมของสารเคมีพวกนี้ได้ จึงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดผศ.ธรณ์ กล่าว สำหรับมาตรการฟื้นฟูอ่าวพร้าวนั้น ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า อยากให้ใจเย็น รอให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ หรือใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถ้าต้องการฟื้นฟูจริงขอให้ไปฟื้นฟูที่อ่าวอื่นๆ ก่อน โดยอาจต้องใช้เวลามากกว่า 7 ปี เพื่อกลับคืนสู่สภาวะปกติเมื่อเทียบกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่อลาสก้า ที่ใช้เวลากว่า 21 ปี ในการฟื้นตัว หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ย้ำว่าในขณะที่การตรวจสอบข้อมูลยังไม่สมบูรณ์แบบ อย่าเพิ่งเข้าไปฟื้นฟู เพราะหากมีการฟื้นฟูเวลานี้การฟื้นฟูจะทำได้ไม่เต็มที่ และจะแน่ใจได้อย่างไรว่า แนวทางในการฟื้นฟูนั้นถูกต้องแล้วหรือยัง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเกาะเสม็ด อย่าง sea walker ซึ่งเสี่ยงทำให้เกิดตะกอนดินฟุ้ง และเพิ่มคราบน้ำมันใหม่จากเรือขนส่งนักท่องเที่ยว กลายเป็นการซ้ำเติมธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ |
โพสเมื่อ : 06 มี.ค. 57 อ่าน 1500 ครั้ง คำค้นหา : |