![]() |
ระวังนอกระบบบานปลายเลาะเลียบคลองผดุงฯ
ก็ด้วยเงื่อนไขเดิมๆ ที่เคยมีมาทุกครั้งเมื่อคณะผู้บริหารมีการขยับตัวขอนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ในสาระสำคัญ คือจะต้องเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมตามหลักการประชาธิปไตย
ตามด้วยคำถามแบบต้องการคำตอบที่เป็นสัญญาประชาคม ที่ว่าหากออกนอกระบบแล้ว ค่าเทอมต่อภาคการศึกษาจะเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ มิเช่นนั้นคนที่เรียนดีแต่ฐานะยากจนจะไม่มีโอกาสเรียน เหมือนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ยกอ้างถึงค่าเทอมที่สูงยิ่งหลังออกนอกระบบแล้ว ในคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้เรียนต้องจ่ายถึง 75,000 บาทต่อเทอม และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องจ่ายมากถึง 18,000 บาทต่อเทอม ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่นอีกจิปาถะ
แต่คำอธิบายจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย เต็มไปด้วยหลักการและเหตุผลที่ดูเป็นวิมานของนางฟ้า คือออกนอกระบบแล้ว ทำให้การบริหารจัดการเป็นอิสระ และมีความคล่องตัวสามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและ ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำไมไม่ตอบให้ตรงประเด็นคำถาม
แค่ฟังเสียงประชาคม ยกตัวอย่างให้เห็นภาพอนาคตชัดเจน เปรียบเทียบให้เห็นระบบเดิม ระบบใหม่ เคลียร์กันให้จบครบทุกเรื่องที่คั่งค้างคาใจประชาคมและผู้คน มิใช่ดันกันไปแบบตายทั้งลำอย่างที่เห็น
แล้วที่ระบุว่า วัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง สร้างบัณฑิต วิจัย บริการทางวิชาการแก่สังคมและท้องถิ่น ริเริ่ม ปรับปรุง ถ่ายทอด พัฒนาองค์ความรู้ในด้านที่มีความเชี่ยวชาญ และทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วทุกมหาวิทยาลัยในประเทศ ต่างก๊อบปี้ข้อความนี้กันมาทั้งสิ้น
มาถึงขั้นนี้แล้ว น่าจะยังไม่สายเกินที่จะหาทางออกร่วมกันก่อนที่จะบานปลายไปมากกว่านี้ เพราะไม่เพียง 4 มหาวิทยาลัยที่ สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.ไปแล้วเท่านั้น
ยังมีปัญหาม.นอกระบบ มศว, ม.ศิลปากร, มรภ.สวนสุนันทาและเชียงราย จ่อคิวตามมาแจมอีกด้วย
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 |
โพสเมื่อ : 18 พ.ค. 58 อ่าน 1430 ครั้ง คำค้นหา : |