ปรับเกณฑ์รับทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ที่เป็นมาไม่ตรงกับเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการดำเนินการ โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 4 ว่า ขณะนี้มีเรื่องที่ต้องพิจารณา เนื่องจากจำนวนผู้รับทุนรุ่นที่ 4 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แม้จะมีการดำเนินการรับรุ่นที่ 4 ไปแล้ว 2 รอบ แต่ก็ยังมีทุนเหลืออีก 1,619 ทุน ศธ.จึงอยู่ระหว่างดำเนินการ เปิดรับสมัครรุ่นที่ 4 รอบ 3 อยู่ โดยในรุ่นนี้จะส่งเสริม ให้นักเรียนสายอาชีพได้รับทุนไปเรียนในต่างประเทศมากขึ้น แต่เรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังและตนเพิ่งได้รับข้อมูลมาเมื่อไม่นานนี้พบ ว่าทุน 2 ประเภท คือ ทุนยากจน ประเภทเรียนดีแต่รายได้น้อยไม่เกินครอบครัวละ 200,000 บาทต่อปี มีนักเรียนได้รับทุนน้อยมาก ส่วนทุนประเภทที่ 2 ทุนเรียนดี ไม่จำกัดรายได้ นักเรียนส่วนใหญ่ที่สอบได้มักจะเลือกเรียนในประเทศหรือไปเรียนประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ซึ่งแม้จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ แต่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการนี้แต่ต้น รวมถึงที่ผ่านมาการใช้ข้อสอบที่ครอบคลุมเนื้อหาทุกวิชาเกินไป ซึ่งอาจจะยากเกินความจำเป็น สาขาบางด้านอาจใช้ เฉพาะบางวิชา จึงต้องทบทวนอย่างจริงจัง รักษาการรัฐมนตรี ศธ. กล่าวด้วยว่า เสียดาย ที่ตนเพิ่งได้ข้อมูลมาไม่นาน แล้วก็พบว่าทุนประเภทแรก มีเด็กได้ทุนน้อยจนน่าตกใจ และยังพบว่าเด็กส่วนใหญ่ในรุ่นนี้เลือกเรียนต่อในประเทศ หรือแม้เลือกไปเรียนต่างประเทศก็เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ ทำให้เราขาดเด็กที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องหาทางแก้ปัญหานี้เป็นการเฉพาะหน้าเป็นการด่วน โดยจะ ต้องปรับเกณฑ์ใหม่ แต่ต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจทำได้โดยเสนอขอแก้ไขหลักเกณฑ์เข้าสู่ที่ประชุม ครม. แล้วกำหนดให้ชัดเจนว่าการปรับแก้ไขนี้ให้มีผลเฉพาะในปีงบประมาณนี้เท่านั้น ไม่มีการใช้งบฯเพิ่มเติม และไม่กระทบต่อ ครม.ชุดต่อไป ส่วนการดำเนินการรุ่นที่ 4 รอบ 3 ที่กำลังเปิดรับสมัครอยู่นี้ ก็ให้ดำเนินการต่อไป แต่หากยังได้ครบจำนวนอีกก็อาจจะต้องเปิดรับรอบ 4 ต่อ เท่าที่งบมีเพียงพอรองรับ ทุน 1 อ. 1 ทุน นั้น เป็นทุนการศึกษาเพื่อ ให้โอกาสเด็กยากจน ได้มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น และเป็นทุนที่ส่งเสริมให้นักเรียนไปเรียนต่างประเทศเป็นหลัก และให้ไปเรียนในประเทศที่นักเรียนไทยสนใจไปเรียนน้อย แต่มีวิทยาการที่ก้าวหน้า เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความขาดแคลนทางด้านบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในประเทศไทย ดังนั้น ถ้าไม่แก้หลักเกณฑ์อะไรเลย ผลที่ตามมาคือจะไม่มีคนได้ทุนเลย หรืออาจจะมีเด็กได้รับทุนจำนวนน้อย ซึ่งการปรับหลักเกณฑ์ในกรณีที่ยังเหลือทุนนี้ หากไม่ทันก็จะทำเป็นสรุปหลักเกณฑ์ไว้ให้รุ่นต่อๆ ไป นายจาตุรนต์ กล่าว ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า |
โพสเมื่อ : 18 มี.ค. 57 อ่าน 1345 ครั้ง คำค้นหา : |