ทปอ.ถกสอบตรงร่วมกัน 22 มิ.ย.ทำได้แต่ข้อสอบต้องมาตรฐานยอมรับทุกฝ่าย




      

ทปอ.ถกสอบตรงร่วมกัน 22 มิ.ย.ทำได้แต่ข้อสอบต้องมาตรฐานยอมรับทุกฝ่าย

          ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ถกสอบรับตรงร่วมกันเป็นไปได้หรือไม่ 2 มิถุนายน ขณะที่ประธาน ทปอ.เผยสอบรับตรงร่วมกันได้ แต่ต้องมีข้อสอบที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ส่วนสอบวิชาเฉพาะต้องมาหารือร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เด็กมากที่สุด ด้าน กสพท.เตรียมหารือที่ประชุมกลุ่ม กสพท.ปลายเดือนมิถุนายนนี้
          ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมหาวิทยาลัยต่างๆ เห็นร่วมกันว่า มหาวิทยาลัยจะรับตรงโดยใช้วิธีการสอบร่วมกัน เพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบของนักเรียนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดสอบ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ความคิดเห็นดังกล่าวยังไม่เป็นมติ โดยการประชุม ทปอ. วันที่ 22 มิถุนายนนี้ จะมีการหารือและสอบถามความเห็นและปัญหาของทุกมหาวิทยาลัย โดยส่วนตัว มองว่าการสอบรับตรงร่วมกันมีความเป็นไปได้ แต่ต้องมีข้อสอบที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ส่วนในเรื่องของการสอบวิชาเฉพาะนั้น คงต้องมาหารือร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เด็กมากที่สุด
          กระบวนการสอบตรงร่วมกันน่าจะทำได้ แต่ต้องมีการหารือร่วมกัน ไม่ใช่ทำแบบเบ็ดเสร็จรวบรัด ซึ่งในการประชุมทปอ.น่าจะมีคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น และหากมหาวิทยาลัยต่างๆ เห็นสอดคล้องว่าจะสอบรับตรงร่วมกัน ก็จะเข้าสู่กระบวนการต่อไป คาดว่าน่าจะทันในปีการศึกษา 2559 ซึ่งอาจจะไม่ต้องต้องแจ้งนักเรียนล่วงหน้า 3 ปี เพราะถือเป็นการปรับเล็กเท่านั้น โดยวิธีการสอบจะเป็นการสอบในช่วงเวลาเดียวกัน ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี หลังจากนักเรียนเรียนจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจะใช้ข้อสอบกลางร่วมกัน อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยนั้นมีสาขาวิชาที่หลากหลาย และมีสาขาวิชามากกว่า 3,500 สาขา ดังนั้นหากจะต้องมีการจัดสอบร่วมกันจริงคงต้องหารือในรายละเอียดว่าจะจัดสอบอย่างไร
          ในการประชุมหารือเรื่องการพัฒนาระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาก่อนหน้านี้ ได้ขอให้ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) เป็นตัวกลางหารือกับมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาด้านศิลปะว่าจะสามารถจัดสอบวิชาเฉพาะร่วมกันได้หรือไม่ รวมถึงสาขาอื่นๆ ที่จำเป็นต้องสอบวิชาเฉพาะ หากจัดสอบร่วมกันได้ก็จะช่วยลดภาระการสอบของเด็กได้มาก รวมทั้งขอให้ ทปอ.ไปหารือกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ให้จัดสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์ ก่อนการจัดสอบอื่นๆ เพราะที่ผ่านมานักเรียนที่สอบติดในคณะอื่น เมื่อรู้ว่าสอบติดแพทย์ก็จะสละสิทธิ์คณะอื่น เป็นการกันที่นักเรียนคนอื่น ดังนั้นหาก กสพท.จัดสอบและประกาศผลก่อนนักเรียนก็จะได้ตัดสินใจและไม่ต้องสอบหลายที่
          ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.อาวุธ ศรีสุกรี เลขาธิการ กสพท. ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่สามารถบอกได้ว่ากลุ่มแพทย์จะสามารถเลื่อนสอบรับตรงได้หรือไม่ เนื่องจากยังไม่ทราบรายละเอียดและยังไม่ได้รับการประสานจาก ทปอ. ถ้าหากข้อเสนอของ สกอ.และทปอ.เป็นไปเพื่อประโยชน์ของเด็ก กสพท.ก็ยินดีให้ความร่วมมือ ซึ่งที่ผ่านมา กสพท.ได้ปรับเปลี่ยนระบบการสอบรับตรงหลายครั้ง แต่ทุกครั้งจะเป็นการปรับโดยคำนึงถึงความต้องการ อำนายความสะดวก และประโยชน์ของเด็กอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามจะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าที่ประชุมกลุ่ม กสพท.ในปลายเดือนมิถุนายนนี้

         

 

 ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


โพสเมื่อ : 06 มิ.ย. 57   อ่าน 1355 ครั้ง      คำค้นหา :