![]() |
สทศ.ยันเด็กไทยไม่โง่โอเน็ต ป.6 ต่ำส่วนน้อย รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ สทศ.ได้ประกาศผลสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ปีการศึกษา 2556 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนกำหนด จากวันที่ 19 มีนาคม เป็นวันที่ 15 มีนาคม ปรากฏว่านักเรียนทำคะแนนเฉลี่ย 7 วิชา จาก 8 วิชาไม่ถึงครึ่ง และทุกวิชาคะแนนต่ำสุดอยู่ที่ 0 คะแนนนั้น ภาพรวมผลการสอบถือว่าใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา มีบางวิชาคะแนนสูงขึ้น และบางวิชาคะแนนลดลง ส่วนที่ผลคะแนนต่ำสุดทุกวิชาอยู่ที่ 0 เท่าที่ตรวจสอบพบว่ามีจำนวนไม่มาก สาเหตุมาจากเด็กทำข้อสอบไม่ครบทุกข้อ หรือทำครบทุกข้อแต่ไม่ถูกเลย ทุกปีที่ผ่านมามีเด็กทำคะแนนต่ำสุดเป็น 0 จากนี้ สทศ.จะต้องวิเคราะห์ผลการสอบทุกวิชาอย่างละเอียด เป็นรายโรงเรียน รวมทั้งมีการเปรียบเทียบผลการสอบแต่ละสังกัด และส่งให้โรงเรียนนำไปปรับปรุงด้วย การที่เด็กได้คะแนนต่ำสุดทุกวิชาเป็น 0 นั้น ไม่ใช่แปลว่าเด็กส่วนใหญ่จะโง่ เพราะจำนวนเด็กที่ได้ 0 มีไม่มาก และไม่ใช่ว่าเด็กคนนั้นจะได้คะแนนต่ำสุดทุกวิชา นอกจากนั้น 0 ในการสอบจะต้องมีเด็กที่ทำข้อสอบไม่ได้ก็น่าจะมี แต่ต้องไปดูว่าจริงๆ เป็นเพราะอะไร ซึ่งภาพรวมคะแนนเด็กถือว่าพอใช้ได้ และมั่นใจว่าในปี 2561 ที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าการปฏิรูปการศึกษา ทำให้เด็กสอบคะแนนโอเน็ตใน 5 วิชาหลัก 50% นั้น เป็นไปได้ รศ.ดรสัมพันธ์ กล่าว นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ข้อสอบโอเน็ตในปีนี้เน้นการคิดวิเคราะห์ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการเรียนการสอนในห้องเรียนปัจจุบันไม่ได้เน้นให้เด็กคิดและวิเคราะห์เป็น และเด็กบางส่วนยังอ่านภาษาไทยไม่คล่อง โดยข้อสอบแบบคิดวิเคราะห์มีโจทย์คำถามที่ยาวมาก ดังนั้นเมื่ออ่านไม่เข้าใจก็ไม่สามารถหาคำตอบที่ถูกต้องได้ ขณะเดียวกันการสอนของครูจะสอนให้เด็กท่องจำมากกว่าและเมื่อข้อสอบออกมาไม่เหมือนกับที่เรียนเด็กก็ทำไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนในห้องเรียนที่เน้นให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นมากขึ้น และมั่นใจว่าการสอบโอเน็ตในปีการศึกษาหน้าเด็กจะมีผลคะแนนที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ทั้งนี้ปัญหาคะแนนโอเน็ต ป.6 ตกต่ำไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย และศธ.ได้เตรียมแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการปฏิรูปการเรียนเปลี่ยนการสอนในทุกรายวิชา ซึ่งต้องใช้เวลา เชื่อว่าในการสอบครั้งต่อๆ ไปเด็กจะทำคะแนนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก |
โพสเมื่อ : 18 มี.ค. 57 อ่าน 1508 ครั้ง คำค้นหา : |