![]() |
ห่วงภาษาไทยเลาะเลียบคลองผดุงฯ
ยืนยันจาก ดร.พัชลินจ์ จีนนุ่น อาจารย์ในคณะเดียวกันถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยในสื่อเฟซบุ๊ก ถ้า "ใช้เป็น" ก็จะก่อประโยชน์ให้แก่ตัวผู้ใช้และสังคมไม่น้อย เป็นการจุดประกายให้ผู้อื่นนำการใช้ภาษาไปเป็นตัวอย่าง เพราะเห็นการใช้ภาษาที่ประณีต และสวยงาม
จากการศึกษาพบว่า สื่อเฟซบุ๊กส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้คุณค่าและเอกลักษณ์ของภาษาไทยหมดความสำคัญเพราะใช้ภาษาพูดปนกับภาษา เขียน ใช้ภาษาฟุ่มเฟือย ใช้สรรพนามผิด ใช้คำขานรับผิด ใช้คำเรียกโดยไม่คำนึงถึงความเป็นผู้น้อยผู้ใหญ่ บัญญัติศัพท์ขึ้นเอง ออกเสียงไม่ถูกต้องและใช้คำผิดหลักไวยากรณ์
ปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งความรู้ด้านทักษะทางภาษาเพียงผิวเผิน การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการใช้ภาษาอย่างถ่องแท้ รวมถึงการที่สถาบันการศึกษาไม่เข้มงวดกับการใช้ภาษาไทยของเด็กไทย
ขณะที่ อาจารย์วราเมศ วัฒนไชย ชี้ให้เห็นถึงการใช้ภาษาของมนุษย์กำลังลดน้อยถอยลง เพราะความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว วิถีชีวิตที่ต้องรีบเร่งแข่งกับเวลา จึงให้ความสำคัญกับความละเอียดอ่อนในการใช้ภาษาน้อยลง พบเห็นได้จากการเขียนบันทึกประจำวัน ซึ่งต้องอาศัยการเรียบเรียงที่เป็นลำดับขั้นตอนและการอธิบายเพื่อให้เห็นภาพ เหตุการณ์และบุคคลที่เราเขียนถึง แต่กำลังถูกแทนที่ด้วยเส้นเวลา
สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดตอนนี้ก็คือ มีการนิยมใช้ตัวการ์ตูน (สติ๊กเกอร์) ต่างๆ แทนคำพูด แทนอารมณ์ความรู้สึก และบางครั้งตัวการ์ตูนเหล่านี้ยังมีเสียงพูดแทนอีกด้วย
ดร.สมิทธิชา พุมมา ได้เก็บรวบรวมข้อมูลนิสิตที่เรียนภาษาไทยพื้นฐานในระดับอุดมศึกษา พบมีความสามารถทางทักษะการใช้ภาษาด้านการฟัง การพูด การอ่าน และ เขียน ในระดับปานกลางเท่านั้น ด้านทักษะการอ่าน พบมีสมาธิสั้น ไม่จดจ่อทำให้จับประเด็นสำคัญของเรื่องไม่ได้ รวมไปถึงไม่สามารถตีความสัญลักษณ์ได้
ส่วนทักษะการเขียน พบว่า มีพื้นฐานเกี่ยวกับการเขียนน้อยมีปัญหาเรื่องรูปแบบ เนื้อหา สะกดผิดบ่อยซึ่งในท้ายที่สุดก็ส่งต่อความตกต่ำด้านการเรียนตามมาในที่สุด
|
โพสเมื่อ : 04 ส.ค. 58 อ่าน 2509 ครั้ง คำค้นหา : |