ตามดู 400 ผลงานสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ไอเดียเด็กอาชีวะภาคเหนือ อาชีวะสร้างชาติ สร้างไทย สู่ประชาคมอาเซียน เป็นคำขวัญในการจัดงาน มหกรรมอาชีวศึกษาภาคเหนือ ครั้งที่ 25 ประจำปีการศึกษา 2556 ซึ่งจัดขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์ เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นเวทีการประชุมของสมาชิกองค์การวิชาชีพ 4 องค์การ ประกอบด้วย องค์การช่างเทคนิคในอนาคตแห่งประเทศไทย (อ.ช.ท.) องค์การนักธุรกิจในอนาคตแห่งประเทศไทย (อธท.) องค์การนักคหกรรมศาสตร์ในอนาคตแห่งประเทศไทย (อคท.)และองค์การช่างศิลปหัตถกรรมในอนาคตแห่งประเทศไทย (อศท.) ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมแข่งขันทักษะวิชาชีพ การประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ รวมทั้งจัดมหกรรม 108 อาชีพของสถานศึกษาในสังกัดอาชีวศึกษาภาคเหนือ ไฮไลต์ในปีนี้ ต้องยกให้ การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นเวทีที่ได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษา ประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่อย่างมาก โดยนักศึกษาวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในภาคเหนือทั้ง 48 แห่ง ได้ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่กลั่นกรองมาจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ภูมิปัญญาที่ได้พบเห็นในพื้นที่ และทักษะที่ได้ร่ำเรียนมา เข้าร่วมประกวดกว่า 400 ชิ้น ใน 7 ประเภท ผลการตัดสินสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับภาคเหนือ 7 ประเภท มีผลงานที่คว้ารางวัลที่ 1 ดังนี้ สิ่งประดิษฐ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ร้านค้าตาสับปะรด ของวิทยาลัยเทคนิคสารภี สิ่งประดิษฐ์เพื่อการประกอบอาชีพ เครื่องกรอเส้นด้ายงานถัก ของวิทยาลัยเทคนิคลำพูน สิ่งประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ทาร์ตปลา ของวิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์ สิ่งประดิษฐ์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม แอร์ประหยัดไฟเบอร์ 8 ของวิทยาลัยการอาชีพชนแดน สิ่งประดิษฐ์ด้านภูมิปัญญาสร้างสรรค์เศรษฐกิจ เครื่องกรอเส้นด้ายสำหรับทอผ้าด้วยระบบไฟฟ้า ของวิทยาลัยเทคนิคลำพูน สิ่งประดิษฐ์ประเภทเพื่อต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยี เครื่องปั่นด้าย ง่ายจัง ของวิทยาลัยการอาชีพนครไทย และ สิ่งประดิษฐ์เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เครื่องป้องกันน้ำท่วมและโคลนถล่ม ของวิทยาลัยเทคนิคลำปาง ซึ่ง น.ส.พิมพ์พิชา ยิ้มสาระ นักศึกษา ปวช.3 สาขางานคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยการอาชีพนครไทย เล่าว่า ปี 2555 ตนพร้อมด้วย น.ส.สุปราณี จัน คีรี นักศึกษาสาขางานบัญชี และนายอนิรุต พรมมาววัน นักศึกษาสาขางานไฟฟ้ากำลัง ได้ร่วมกันประดิษฐ์ เครื่องปั่นด้าย ง่ายจัง ขึ้น โดยส่งเข้าประกวดเป็นสิ่งประดิษฐ์ด้านภูมิปัญญาฯ ได้รางวัลชนะเลิศในระดับภาคและคว้ารางวัล Honor Awards จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับชาติประจำปีการศึกษา 2555 มาแล้ว แต่ด้วยจุดมุ่งหมายของพวกเราที่ว่า จะนำสิ่งที่ดีที่สุดสู่ชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถทอผ้ามัดหมี่ตามการสั่งซื้อได้อย่างมีมาตรฐาน และทันเวลา จึงพัฒนาต่อยอดโปรแกรมควบคุมการนำ งาน โดยใช้โปรแกรมควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้กับมอเตอร์ปัดน้ำฝนของรถยนต์ ซึ่งเมื่อนำไปทดลองใช้กับกลุ่มแม่บ้านทอผ้าก็ได้ผลดีมาก โดยเครื่องปั่นด้ายนี้ มีต้นทุนการผลิต 6,500 บาทเท่านั้น นายอนุพงษ์ ตุ้ยเขียว และ นายธนาพล ทาเขียว นักศึกษา ปวส.2 แผนกวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคลำปาง เจ้าของโครงงาน เครื่องเตือนภัยน้ำป่าและดินโคลนถล่ม บอกว่า ผลงานชิ้นนี้ยังไม่ได้ผลิตเพื่อจำหน่าย ยังเป็นเพียงโครงงานทดลองที่มีจุดกำเนิดมาจากความคิดที่ว่าจังหวัดลำปาง มีน้ำป่า และดินโคลนถล่ม ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่ถ้ามีเครื่องมือที่ใช้เตือนภัยก็จะลดอันตรายจากอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และการใช้งานก็สะดวกไม่ยุ่งยาก นอกจากนี้ยังมีผลงานสิ่งประดิษฐ์อีกหลายชิ้นที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับรางวัล แต่ก็เป็นไอเดียเด็ด ๆ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง อาทิ เรือตู้เสื้อผ้า ของวิทยาลัยเทคนิคลำพูน ที่ยามสงบก็เป็นตู้เก็บเสื้อผ้า หากน้ำท่วมก็ถอดฝาตู้ออกพายเป็นเรือไฟเบอร์ และ มีดหั่นเครือกล้วย ของวิทยาลัยการอาชีพศรีสำโรง ที่ช่วยผ่อนแรง สามารถกรีดเครือกล้วยเพื่อแยกหวีกล้วยให้สุดเครือได้อย่างง่ายดายและสวยงาม อาจารย์จีระพงษ์ แสงวณิช ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพพิชัย จ.อุตรดิตถ์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารนวัตกรรม เทคโนโลยี และสิ่งประดิษฐ์ภาคเหนือ บอก ว่า ในการจัดงานแต่ละปีจะมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของนักศึกษามากมายหลายชิ้นงาน และยังเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาได้เข้ามาดูงาน เพื่อเป็นแนวทางการประกอบอาชีพในอนาคตและเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายอาชีพด้วย ขณะที่ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า สอศ.ต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะอาชีพ ควบคู่กับทักษะทางจริยธรรม และที่เน้นมาก คือ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยการใช้ทักษะอาชีพมาสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้น สอศ.จึงกำหนดว่า เด็กทุกคนต้องมีโอกาสและมีประสบการณ์ในการทำโครงงาน ซึ่งการเปิดเวทีให้แข่งขันในระดับสถานศึกษา ระดับภาค ระดับชาติ พบว่า สิ่งประดิษฐ์ดี ๆ ที่เด็กอาชีวะคิดขึ้นมามีประโยชน์สามารถช่วยชาวบ้านได้ และนำไปขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้ แต่ก็มีการรั่วไหลขโมยไอเดียของเด็กอาชีวะไปขยายผล ดังนั้น ในปีนี้ สอศ.จะให้ความสำคัญในเรื่องของการจดสิทธิบัตรที่เป็นผลงานของเด็กและสถานศึกษา สนใจสามารถร่วมชมผลงานของนักศึกษาได้ในงาน การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2556 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิ กรุงเทพฯ โดยมี 211 ผลงานที่ชนะในระดับภาคมาชิงชัยแล้วจะรู้ว่า เด็กไทยมีฝีมือและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่แพ้ชาติใดในโลก. --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 17 ม.ค. 2557 (กรอบบ่าย)-- |
โพสเมื่อ : 16 ม.ค. 57 อ่าน 1725 ครั้ง คำค้นหา : |