สปช.ด้านการศึกษา ค้านแยกโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ



ความคืบหน้ากรณี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ศึกษาว่าควรจะแยกตัวออกจาก ศธ.หรือไม่ เนื่องจากโครงสร้างกระทรวงปัจจุบันใหญ่และอุ้ยอ้ายเกินไป ทำให้การบริหารจัดการไม่คล่องตัว โดย สอศ.ให้ศึกษาว่าควรแยกตัวไปจัดตั้งเป็นอีกกระทรวงหรือไม่ สกอ.ให้ศึกษาว่าให้แยกออกไปตั้งเป็นทบวงหรือกระทรวง ขณะที่ สกศ.ให้ศึกษาว่าควรจะกลับไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยให้เวลา 1 เดือน

นายณรงค์ พุทธิชีวิน อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สุราษฎร์ธานี ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการศึกษา เปิดเผยว่า วิธีคิดของคนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พอคิดจะทำอะไรมักพูดเรื่องโครงสร้าง ศธ. การคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดแบบราชการมาก เวลาทำอะไรไม่คล่องตัวหรือทำอะไรไม่ได้ก็คิดว่าเป็นเพราะโครงสร้างมีปัญหา

"แต่ทำไมไม่คิดว่าจะทำหรือ แก้ไขด้วยวิธีการอย่างอื่น เช่น หากมองว่าโครงสร้าง ศธ.ทำให้การบริหารจัดการของ ศธ.ไม่มีความคล่องตัว อาจจะเขียนกติกาที่ทำให้คล่องตัวมากกว่าการมาปรับโครงสร้างใหม่ที่จะต้องใช้ เวลาและใช้งบประมาณ ซึ่งยังไม่มีใครรู้คำตอบว่าหากปรับโครงสร้าง ศธ.แล้วจะได้คำตอบอย่างที่คาดหวังกันหรือไม่ ขอถามว่าความคล่องตัวในการบริหารจัดการอยู่ที่ตัวเราหรืออยู่ที่โครงสร้าง กันแน่" นายณรงค์กล่าว และว่า

การปรับโครงสร้าง ศธ.เป็นเรื่องรอง เพราะเวลาพูดเรื่องการศึกษาของไทยจะต้องมาดูเรื่องของคุณภาพการศึกษา การเอาจริงเอาจังของคนในแวดวงการศึกษาที่จะช่วยกันผลักดันแก้ไขคุณภาพการ ศึกษาไทยให้ดีขึ้น ดังนั้น การเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ไม่ได้ตอบโจทย์เก่า แต่หากคิดว่าเปลี่ยนโครงสร้างศธ. ใหม่เพราะแค่ความคล่องตัว คิดว่าเป็นการคิดที่ง่ายไป แต่ไม่ได้หมายความว่าความคิดดังกล่าวผิด แต่ต้องตีโจทย์การศึกษาให้ตรงประเด็น เนื่องจากเวลาในการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการศึกษามีจำกัดแค่ประมาณ 1 ปีเท่านั้น ฉะนั้นต้องตอบโจทย์ที่สำคัญก่อนเป็นอันดับแรก

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2557


โพสเมื่อ : 14 ต.ค. 57   อ่าน 1365 ครั้ง      คำค้นหา :