ม.แม่โจ้ ต่อยอดงานวิจัย พัฒนาพันธุ์อ้อย




      
ม.แม่โจ้ ต่อยอดงานวิจัย พัฒนาพันธุ์อ้อย


          คณะวิทยาศาสตร์ และสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีพิธีบันทึกความร่วมมือการผลิตต้นพันธุ์อ้อยคุณภาพด้วยระบบไบโอรีแอคเตอร์ กับบริษัทบุรีรัมย์วิจัยและพัฒนาอ้อย จำกัด โดย ผศ.พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ คุณจิรวรรณ พงษ์พิชิตกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุรีรัมย์วิจัยและพัฒนาอ้อย จำกัด เป็นผู้แทนลงนามของทั้งสองฝ่าย
          ผศ.พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีนโยบายสนับสนุนให้มีการสร้างความร่วมมือกับองค์กรภายนอก ทั้งคณะบุคคล ภาคเอกชน หรือชุมชน เพื่อพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยและงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เพราะระบบการผลิตต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคด้วยระบบไบโอรีแอคเตอร์จมชั่วคราวขนาดอุตสาหกรรม เป็นผลงานวิจัยของ รศ.ดร.นพมณี โทปุญญานนท์ และทีมงาน เป็นงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพและได้รับรางวัลการันตีหลายรางวัล ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการขยายผลให้ผลงานวิจัยสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับวงการเกษตรของประเทศ
          ด้าน คุณจิรวรรณ พงษ์พิชิตกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุรีรัมย์วิจัยและพัฒนาอ้อย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอบคุณมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ส่งเสริมให้มีผลงานวิจัยดีๆ ที่สามารถต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง บริษัท บุรีรัมย์วิจัยและพัฒนาอ้อย จำกัด ได้ให้ความสนใจที่ต้องการขยายพันธุ์ต้นอ้อยคุณภาพดีปลอดโรคของบริษัทให้ได้ทันความต้องการของเกษตรกร ซึ่งผลของการผลิตอ้อยในครั้งนี้ทางบริษัทก็จะส่งมอบให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยต่อไปโดยไม่คิดมูลค่า
          ผลงานวิจัยเรื่อง ระบบการผลิตต้นพันธุ์อ้อยปลอดโรคด้วยระบบไบโอรีแอคเตอร์จมชั่วคราวขนาดอุตสาหกรรม ที่ได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติในปี 2554 ที่คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้พัฒนาระบบไบโอรีแอคเตอร์จมชั่วคราวขนาดอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงต้นอ้อยให้ได้ปริมาณมากในคราวเดียวกัน หรืออย่างต่ำไม่น้อยกว่า 40,000 ต้นต่อรอบการผลิต ทางบริษัท บุรีรัมย์วิจัยและพัฒนาอ้อย จำกัด ได้ประสานงานมาเพื่อทำงานร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่จะผลิตต้นอ้อยจำนวน 100,000 ต้น ให้แก่บริษัท มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงได้มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์ดำเนินการผลิตต้นพันธุ์อ้อยโดยใช้ระบบไบโอรีแอคเตอร์จมชั่วคราวขนาดอุตสาหกรรม แล้วจะนำเอาต้นกล้าออกปลูกลงถาดนาน 1 เดือนในเรือนโรงของสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร จนพร้อมที่จะส่งต้นให้แก่บริษัทต่อไป โดยคณะนักวิจัยที่จะทำงานในความร่วมมือครั้งนี้ ได้แก่ รศ.ดร.นพมณี โทปุญญานนท์, ผศ.ดร. ปวีณา ภูมิสุทธาผล คณะวิทยาศาสตร์, น.ส.รังสิมา อัมพวัน นักวิจัยสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร, นางทิพย์สุดา ปุกมณี นักวิจัยสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร และ ผศ.ดร.พูนพัฒน์ พูนน้อย คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร
          ระบบไบโอรีแอคเตอร์แบบจมชั่วคราวขนาดอุตสาหกรรม ได้รับรางวัล Gold Prize ในงานนักประดิษฐ์สตรีนานาชาติ หรือ Korea International Women's Invention Exposition 2013 (KIWIE 2013) ซึ่งเป็นงานประกวดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์จัดการประกวดผลงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ (invention) ที่เกิดจากผลงานวิจัยและการคิดค้นของผู้หญิงในระดับนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นโดย Korea Woman Inventors Association (KWIA) ณ COEX Hall กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้ชื่อผลงาน Bioreactor System for Industrial Plant Propagation นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล Special Award จาก Green Technology Invention Society (GTIS) ประเทศไต้หวัน ในงานเดียวกัน

          
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง



โพสเมื่อ : 06 มี.ค. 57   อ่าน 2054 ครั้ง      คำค้นหา :