มรภ.พระนคร ร่วม สพฐ.จัดทำภาษาไทย-มอญให้ 10 เขตพื้นที่การศึกษาเรียนรู้เป็นภาษาที่สอง




      

มรภ.พระนคร ร่วม สพฐ.จัดทำภาษาไทย-มอญให้ 10 เขตพื้นที่การศึกษาเรียนรู้เป็นภาษาที่สอง

          นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดทำโครงการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนโรงเรียนแนวชายแดนและ พื้นที่พิเศษ เพื่อสนับสนุนให้นำภาษาท้องถิ่น เข้ามาจัดการเรียนรู้และใช้วิธีการสอนภาษาไทย อย่างการสอนภาษาที่สองสำหรับเด็กชนเผ่า ทั้งนี้ เนื่องจากเด็กไทยที่มีอยู่ประมาณ 8-9 ล้านคน แต่มีเด็กไทยจำนวนหนึ่งไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาที่ 1 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2 แสนคน ที่พูดภาษาอื่นๆ เช่น เด็กกะเหรี่ยง มูเซอ มอร์แกน ยาวี มอญ ซึ่งในประเทศไทย มีอยู่ 39 ภาษา
          เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า สพฐ.จึงได้จัดทำพจนานุกรมภาษาไทย-มอญ โดยมอบให้มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร จัดทำโปรแกรมส่งเสริมการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาท้องถิ่น ภาษาไทย-มอญ (Thai-Dialect Dictionary App.) เพื่อพัฒนาและติดตั้ง โปรแกรมการเรียนรู้คำศัพท์ไทย-มอญ 1.โปรแกรม l'earning App ในเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา(Tablet) 2.โปรแกรม ระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows ในระบบ DVD และ 3.โปรแกรมระบบปฏิบัติการ Android ในรูปแบบ Micro SD Card เพื่อส่งมอบให้แก่เขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียน ซึ่งขณะนี้ มรภ.พระนคร ได้จัดทำและบันทึกโปรแกรมส่งเสริมการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาไทย-มอญ เสร็จเรียบร้อยแล้วโดยสพฐ.จะจัดส่งโปรแกรมคำศัพท์ภาษาท้องถิ่น ภาษาไทย-มอญ ไปให้ 10 เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) เพื่อกระจายไปยัง 26 โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่มีเด็กพูดภาษามอญอยู่จำนวนมาก ได้แก่ สพป.กาญจนบุรี เขต 3, สพป.สมุทรสาคร, สพป.ราชบุรี เขต 2, สพป.เชียงใหม่ เขต 5, สพป.เชียงราย เขต 1, 3 และ 4, สพป.ตาก เขต 2, สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2, สพป.สุรินทร์ เขต 3 เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอน

         

 ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า


โพสเมื่อ : 16 ก.ค. 57   อ่าน 1324 ครั้ง      คำค้นหา :