ความสำเร็จส่งเสริมการอ่าน




      
ความสำเร็จส่งเสริมการอ่าน


          การอ่านถือว่าเป็นรากฐานสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ ยิ่งอ่านมาก ยิ่งรู้มาก เพื่อชิงความได้เปรียบ แต่สำหรับประเทศไทยจะมีตัวเลขที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันมาหลายปีแล้วว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยแค่ปีละไม่เกิน 8 บรรทัด ทำให้หลาย ๆ หน่วยงาน และองค์กรต้องฉุกคิดหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นเร่งรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน ส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น รวมถึงสำนักงานส่งเสริม การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ สำนักงาน กศน. ที่มีการใช้มาตรการเชิงรุกมาก มายในการส่งเสริมการอ่าน รวมทั้งการจัดตั้งบ้านหนังสืออัจฉริยะในปี 2556 จำนวนกว่า 41,800 หมู่บ้าน จากที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 84,000 หมู่บ้านง
          และจากการรณรงค์เพิ่มจำนวนการอ่านดังกล่าว วันนี้เราจะได้ไปเห็นความพยายามและความมุ่งมั่นของทีมงานห้องสมุดประชาชน เฉลิมราชกุมารี อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ที่สามารถบุกเข้าไปในแหล่งชุมชน เพื่อขนหนังสือ เอาความรู้เข้าไปให้บริการอ่านถึงที่สามารถสร้างเครือข่ายของห้องสมุดของสำนักงาน กศน.อำเภอน้ำพองได้มากมาย ทั้งในโรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรม สถานที่ราชการ โรงเรียนทั้งของรัฐและเอกชน ในวัด และห้องสมุดในบ้านหรือบ้านหนังสืออัจฉริยะ เป็นต้น ง
          งานนี้จะขาดคนนี้ไม่ได้และต้อง ถือเป็นกำลังสำคัญในการสร้างเครือข่ายห้องสมุดของสำนักงาน กศน.อำเภอน้ำพอง อีกทั้งเป็นกำลังหลักในการปลุกชาวน้ำพองให้ลุกขึ้นมาหยิบหนังสืออ่าน และเดินเข้าห้องสมุดหรือมุมหนังสือมากขึ้น เขาคือ นพดล ทีคอโงน บรรณารักษ์ปฏิบัติการห้องสมุดประชาชน เฉลิมราชกุมารี อำเภอน้ำพอง ซึ่งเคยได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย โดยเฉพาะบรรณารักษ์ยอดเยี่ยมระดับประเทศ เมื่อปี 2554 โดย นพดล บอกว่า สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายได้มากมาย คือ ความสม่ำเสมอ ซึ่งผมจะลงพื้นที่เป็นประจำ เคาะประตูบ้านเพื่อเชิญชวนพ่อแม่พี่น้อง ชาวบ้านมาเข้าห้องสมุด เรียกว่าต้องใช้ ลูกตื๊อ ลงไปบอกไปพูดซ้ำ ๆ เพื่อให้ชาวบ้านเห็นถึงความสำคัญของการอ่านและ การเรียนรู้ ผมต้องใช้ความพยายามมากกว่า 2 ปี กว่า จะตั้งห้องสมุดเครือข่าย ได้แต่ละแห่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความอดทนสูงมาก เพราะแต่ละแห่งก็ไม่ใช่ใกล้ ๆ ต้องเดินทาง การเชิญชวนคนให้มาเข้าห้องสมุดก็ต้องชักแม่น้ำทั้งห้า และเมื่อตั้งห้องสมุดหรือที่อ่านหนังสือได้แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะปล่อยไปเลยเรายังคงต้องติดตามเข้าไปดูแลอย่างสม่ำเสมอ จัดหาหนังสือใหม่เข้าไปสับเปลี่ยนโดยจะมีการหมุนเวียนหนังสือจาก ห้องสมุดเครือข่ายด้วยกันเดือนละครั้ง
          ผมทำงานกันเป็นทีมและตั้งใจอยากให้พี่น้องประชาชนมีความรู้  และผมก็ได้ข้อคิดจาก ผอ.วิจิตราวลิน พรปัญญาภัทร ผอ.กศน.อำเภอน้ำพอง ว่า ก่อนที่เราจะเอาอะไรจากเขาต้องให้เขาด้วยใจ เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งที่ผมอยากได้คือให้ชาวบ้านรู้หนังสือ ผมก็ต้องพยายามเอาความรู้เข้าไปให้ ผมทำงานอย่างนี้มีความสุข เหนื่อยช่างมัน อย่างน้อยเราก็ได้ใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาทำให้เกิดประโยชน์ในวิชาชีพ จากที่เมื่อก่อนคนใช้บริการห้องสมุดน้อย วันนี้ก็มีมามากขึ้นถึงจะไม่มากแบบผิดหูผิดตาก็ตาม และเรายังมีห้องสมุดเครือข่ายกระจายไปในพื้นที่ก็สามารถทำให้คนหันมาอ่านหนังสือมากขึ้น แค่นี้ก็ภูมิใจแล้ว นพดลย้ำ
          ที่โรงพยาบาลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นอีกเครือข่ายของห้องสมุดของ กศน.อำเภอน้ำพอง ที่มีคนใช้บริการอ่านหนังสือค่อนข้างมาก เรียกว่าอ่านกันจนหนังสือเยิน หายบ้าง ขาดบ้างก็ไม่ว่ากัน ซึ่ง นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผอ.โรงพยาบาลน้ำพอง บอกว่า การจัดมุมหนังสือ หรือที่อ่านหนังสือในโรงพยาบาลเป็นความร่วมมือที่ดีและ มีประโยชน์สำหรับชาวบ้าน คนไข้และญาติอย่างมาก เพราะระหว่างรอพบแพทย์ก็จะได้อ่านหนังสือ ซึ่งเป็นการฆ่าเวลาอย่างดีเพราะจะได้ทั้งความรู้และสุขภาพจิตที่ดี ขณะเดียวกันคนทั่วไปหรือนักเรียน นักศึกษาก็สามารถแวะเข้ามานั่งอ่านหนังสือได้ คิดว่าถ้าเป็นไปได้น่าจะจัดไปในทุกโรงพยาบาล ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระอะไรให้กับโรงพยาบาลเลย เพราะ กศน.จะเป็นหลักในการจัดหาหนังสือมาให้และเข้ามาดูแลตลอด ส่วนโรงพยาบาลก็ช่วยเสริม จัดหาสถานที่ให้ และจัดเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแลทำความสะอาด
          เท่าที่ทำมาระยะหนึ่ง ผมได้แอบลงมาดู ก็เห็นว่าคนไข้และญาติที่มานั่งรอพบแพทย์ให้ความสนใจหยิบหนังสือไปอ่านกัน ผมก็มีความคิดว่าจะหาพื้นที่ขยับขยายให้กว้างขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น นพ.วิชัย กล่าวทิ้งท้าย
          และที่กองพลทหารม้าที่ 3 ค่ายเปรมติณสูลานนท์ อำเภอน้ำพอง ก็เช่นกันที่ได้การจัดพื้นที่ให้ตั้งห้องสมุดประชาชน ค่าย เปรมติณสูลานนท์ เป็นเครือข่ายของห้องสมุดประชาชนฯ กศน. อำเภอน้ำพอง อีกแห่งหนึ่ง ซึ่ง พ.อ.ผดุงเกียรติ โปร่งจิตต์ รอง ผบ.พล.ม.3 กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการตั้งห้องสมุดประชาชน ในค่าย คือ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้ของกำลังพลและบุตรหลานในค่าย รวมทั้งเปิดให้บริการแก่ประชาชน นิสิต นักศึกษา และนักเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งใช้เป็นสถานที่พบกลุ่มของนักศึกษา กศน.ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มาก นอกจากนี้ยังพบว่ามีนักเรียนบางคนยังใช้ห้องสมุดเป็นที่คอยผู้ปกครองมารับหลัง เลิกเรียนอีกด้วย นับเป็นอีกมิติหนึ่งของความร่วมมือร่วมใจในการส่งเสริม การอ่านการเรียนรู้ที่น่าชื่นชม.


          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 พ.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--


โพสเมื่อ : 15 พ.ค. 57   อ่าน 1344 ครั้ง      คำค้นหา :