มข.วิจัยข้าวไร่พืชทางเลือก ฟื้นฟูดิน แก้วิกฤติข้าวไทย




      
มข.วิจัยข้าวไร่พืชทางเลือก ฟื้นฟูดิน แก้วิกฤติข้าวไทย


          ปัจจุบันชาวไร่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมปลูกข้าวไร่หมุนเวียนกับพืชไร่หลากชนิด เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด สัปปะรด เพื่อใช้เป็นพืชหมุนเวียนบำรุงดิน เนื่องจากได้ประโยชน์ 2 ชั้นคือ ช่วยปรับสภาพหน้าดิน และสามารถเก็บเกี่ยวข้าวใช้บริโภคในครัวเรือนได้อีกด้วย ขณะที่ข้าวไร่ พืชทางเลือกอีกชนิดหนึ่ง ยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสามารถบำรุงดินได้ดีมีคุณภาพเทียบเท่ากับปอเทือง และถั่วเหลือง เหตุนี้จึงเป็นที่มาของผลงานวิจัยเรื่อง บทบาทของข้าวไร่-พืชตระกูลถั่วต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินและความยั่งยืนของระบบการปลูกอ้อย โดย ดร.วรรณวิภา แก้วประดิษฐ์ พลพินิจ ได้นำทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการทดลองในพื้นที่ดินของเกษตรกรบ้านนาหว้า ต.บ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น
          รศ.ดร.กฤตพล สมมาตย์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ผลงานวิจัยครั้งนี้ จึงถือเป็นมิติใหม่แห่งวงการนักวิจัยด้านเกษตร ในการค้นพบพืชทางเลือกอย่างเช่นข้าวไร่ ที่สามารถใช้เป็นพืชหมุนเวียน ฟื้นฟูดินได้เช่นเดียวกับพืชชนิดอื่นๆ คาดว่างานวิจัยชิ้นนี้จะสามารถเพิ่มคุณประโยชน์ สร้างเศรษฐกิจ และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยดียิ่งขึ้น
          ดร.วรรณวิภา แก้วประดิษฐ์ พลพินิจ กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากการสะท้อนปัญหาของเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยการนำปัญหาของเกษตรกรมาต่อ ยอดเพื่อคลายความกังวลในเรื่องคุณภาพการบำรุงดินของข้าวไร่ ซึ่งยังไม่มีผลการวิจัยรองรับว่าสามารถปรับสภาพดินเพื่อให้พร้อมสำหรับการปลูกอ้อยได้ดี เช่นเดียวกับ ปอเทือง และถั่วเหลือง ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกรมั่นใจในการปลูกข้าวไร่ พืชทางเลือกชนิดใหม่ นอกจากใช้บำรุงดินแล้วยังใช้ในการบริโภคในครัวเรือนได้
          จากการทดสอบดินในไร่อ้อย พบว่าดินก่อนการทดลอง เป็นดินทรายและมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีอินทรียวัตถุในดินน้อย ภายหลังการปลูกพืช 3 ชนิด ได้แก่ ปอเทือง ถั่วเหลือง และข้าวไร่ เปรียบเทียบกัน 3 แปลง พบว่าดินทั้ง 3 แปลงมีปริมาณอินทรียวัตถุสูงกว่าในดินก่อนการทดลอง โดยไม่แตกต่างกันในเชิงสถิติระหว่าง 3 กรรมวิธีดังกล่าว จากผลการทดลอง แม้การปลูกถั่วเหลืองจะส่งผลให้ดินมีอินทรียวัตถุในดิน และหลังเก็บเกี่ยวอ้อยไม่แตกต่างจากการปลูกข้าวไร่ที่ได้รับปุ๋ยเคมี แต่การปลูกข้าวไร่ที่ได้รับปุ๋ยเคมีนั้นส่งผลให้ดินมีปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ และแคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ในดินเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ากรรมวิธีการปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่นๆ ดังนั้นเกษตรกรจึงควรพิจารณาเลือกชนิดของพืชหมุนเวียนก่อนปลูกอ้อยในแง่ของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจควบคู่กับความพร้อมทางแรงงานและต้นทุนในการปลูก ตลอดจนการดูแลรักษาพืชหมุนเวียนด้วย หากเกษตรกรไม่มีความพร้อม การปล่อยให้วัชพืชขึ้นคลุมแปลงนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งส่งผลให้ดินมีอินทรียวัตถุในดินไม่แตกต่างจากการปลูกข้าวไร่และถั่วเหลือง งานทดลองนี้จึงสรุปได้ว่าการปลูกข้าวไร่เป็นพืชนำก่อนปลูกอ้อย ส่งผลให้อ้อยที่ปลูกตามมีผลผลิตที่สูงขึ้นมากกว่าการปลูกถั่วเหลือง และยังสามารถเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินได้โดยไม่แตกต่างกับการปลูกถั่วเหลืองอีกด้วย
          ผลงานวิจัยนี้ถือเป็นเครื่องที่ช่วยยืนยันว่าข้าวไร่เป็นพืชที่สามารถเพิ่มธาตุอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของดิน และช่วยปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพของดินได้ดีไม่น้อยกว่าถั่วเหลืองและปอเทือง นอกจากนี้ ข้าวไร่ยังถือเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่น่าจับตามอง เพราะนอกจากจะปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย เหมาะต่อภูมิศาสตร์และภูมิอากาศที่ยากจะควบคุมของประเทศไทยแล้ว คุณภาพของข้าวไร่บางสายพันธุ์ยังเทียบเท่ากับข้าวนาปีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน จึงทำให้คนกลุ่มหนึ่งหันมาบริโภคข้าวไร่ที่มีคุณภาพไม่แตกต่างกัน ซ้ำยังมีราคาถูกกว่าอีกด้วย
          หากเกษตรกรท่านสนใจสามารถขอคำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับการปลูกพืชและปรับปรุงบำรุงดิน ติดต่อ ดร.วรรณวิภา แก้วประดิษฐ์ พลพินิจ 08-3599-4341 ([email protected]) และคำปรึกษาเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวไร่ สามารถติดต่อที่ ดร.จิรวัฒน์ สนิทชน 08-1567-4364
        


  ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


โพสเมื่อ : 22 เม.ย. 57   อ่าน 1320 ครั้ง      คำค้นหา :