![]() |
วันที่ 15 สิงหาคม ที่วัดกัลยาณมิตร เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า วันนี้จะมีพระสงฆ์ออกมาชุมนุม เรียกร้องความเป็นธรรมกณีที่นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร สั่งทุบศาลาราย บริเวณเขตพุทธาวาส ภายในวัดกัลยาณมิตร เวลา 15.30 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจบริเวณวัดกัลยาณมิตรพบว่า ศาลารายที่สร้างทับศาลาเสวิกุล ช่างได้รื้อแล้วเสร็จแล้ว เหลือเพียงเศษก้อนอิฐกองอยู่บริเวณนั้น ส่วนศาลารายที่สร้างทับศาลาทรงปั้นหยา อยู่ระหว่างการรื้อถอน ส่วนบรรยากาศหลังพระวิหารหลวง พบชาวบ้าน 3-4 คนยืนถกกับผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร โดยไม่มีข้อยุติ เจ้าหน้าที่จากสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) นายหนึ่งที่ยืนสังเกตการณ์อยู่บริเวณนั้นจึงได้ดึงตัวผู้ช่วยเจ้าอาวาสรูปนั้นออกมาจกวงเสวนาเนื่องจากเกิดข้อถกเถียงอย่างรุนแรงขึ้น ต่อจากนั้นผู้สื่อข่าวสังเกตเห็นว่าพระภิกษุสามเณรนั่งเรียนบาลี ในเต็นท์ข้างพระวิหารหลวง พร้อมชูป้ายกรมศิลปากรทุบศาลารายทำให้พระ เณร ไม่มีที่เรียน เมื่อสอบถามพระรูปหนึ่งทราบว่าเหตุที่ต้องเรียนกลางแจ้ง เพราะกรมศิลปากร ได้ทุบทำลายศาลาราย จึงเป็นเหตุให้ห้องเรียนไม่เพียงพอสำหรับพระภิกษุสามเณร ส่วนการชุมนุมไม่มีแต่อย่างใด พระมหาบรรณหาร กตฺติคุโณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรและอาจารย์สอนแผนกบาลี กล่าวว่า พระภิกษุสามเณรที่เรียนนักธรรม-บาลีในวัดกัลยาณมิตรมีจำนวน 80 รูป แบ่งเป็น 8 ห้องเรียน ปกติจะเรียนในศาลารายที่มีจำนวน 6 หลังและบางวันเรียนที่อาคารเจ้าพระยานิกรบดินทรด้วย แต่เนื่องจากทางกรมศิลปากรได้สั่งทุบไปแล้ว 2 หลัง จึงทำให้ห้องเรียนไม่พอ จึงอยากให้อธิบดีกรมศิลปากรเห็นใจพระภิกษุสามเณรบ้าง พระมหาบรรณหาร กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วนี้ๆ อธิบดีกรมศิลปากร ได้ออกมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และย้ำในเจตนารมณ์ว่าจะไม่มีการหยุดรื้อถอนอย่างเด็ดขาด ถือว่าเป็นการตอกย้ำที่เจ็บปวดมาก พระภิกษุสามเณรในวัดรู้สึกหดหู่เมื่อได้ยินเช่นนั้น ทางวัดพยายามยื่นหนังสือไปทุกหน่วยงานให้ช่วยประสาน ให้กรมศิลปากรยุติการรื้อถอนหากไม่สำเร็จ ต่อจากนี้คงต้องใช้วิธีสุดท้ายคือร่วมกับองค์กรเครือข่ายชาวพุทธฯ เพื่อแสดงจุดยืน "อาตมาอยากถามท่านอธิบดีกรมศิลปากรว่า หากท่านมั่นใจว่าวัดกัลยาณมิตรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานทั้งวัดแล้ว ทำไมท่านไม่รื้อบ้านที่สร้างในเขตพื้นที่วัดบ้าง เพราะถือว่าอยู่ในเขตโบราณสถานเช่นเดียวกัน" ที่มา : นสพ.มติชน |
โพสเมื่อ : 17 ส.ค. 58 อ่าน 1777 ครั้ง คำค้นหา : |