![]() |
หนุน สกอ.แยกตัวตั้งเป็นกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัย อธิการฯชี้คล่องตัวกว่า-สายบังคับบัญชาสั้น เชื่อหนุนส่งปฏิรูปคุณภาพการศึกษา กรณี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ศึกษาว่า ควรแยกตัวออกจาก ศธ.หรือไม่ เนื่องจากโครงสร้าง ศธ.ปัจจุบันใหญ่และอุ้ยอ้ายเกินไป ทำให้การบริหารจัดการไม่คล่องตัว โดย สอศ.ให้ศึกษาว่าควรแยกไปจัดตั้งเป็นอีกกระทรวงหรือไม่ ส่วน สกอ.ให้ศึกษาว่า ให้แยกออกไปตั้งเป็นทบวง หรือกระทรวง ขณะที่ สกศ.ให้ศึกษาว่า ควรจะกลับไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยให้เวลา 1 เดือนนั้น เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นายวันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เสนอขอแยก สกอ.ออกจาก ศธ.เป็นกระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัย โดยได้วิเคราะห์ข้อดีและข้อเสีย โดยทบทวนตั้งแต่สมัยที่เป็นทบวงมหาวิทยาลัยมาจนกระทั่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลของ ศธ. พบว่าในช่วงที่มหาวิทยาลัยมีทบวงฯกำกับดูแล การบริหารงานคล่องตัวมากกว่าปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะสายบังคับบัญชาค่อนข้างสั้น หากมีปัญหามหาวิทยาลัยสามารถส่งเรื่องถึงปลัดทบวงฯ และรัฐมนตรีว่าการทบวงฯตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากปัจจุบันต้องผ่านทั้ง สกอ., ปลัด ศธ., รมช.ศธ.ที่กำกับดูแล และกว่าจะส่งเรื่องให้ รมว.ศธ.ตัดสินใจ ทำให้บางครั้งการแก้ปัญหาหรือการดำเนินการต่างๆ ล่าช้าไม่ทันการณ์ ขณะเดียวกันนโยบายหรือแนวคิดของการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการอุดมศึกษา มีความแตกต่างกัน "หากแยกระดับอุดมศึกษาออกมาเป็นเอกเทศ จะทำให้การบริหารจัดการคล่องตัวมากขึ้น ดังนั้น ส่วนตัวยืนยันตามที่เสนอให้แยก สกอ.ออกมาเป็นกระทรวงอุดมศึกษาและการวิจัย" นายวันชัยกล่าว นายวันชัยกล่าวว่า ส่วนข้อเสนอให้แยก สอศ.นั้น ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียด แต่ส่วนตัวเห็นว่าธรรมชาติของการอาชีวศึกษากับการอุดมศึกษาต่างกันในเรื่อง ของเส้นทางสายอาชีพของบัณฑิต เบื้องต้นเห็นว่า หากแยก สอศ.ออกมาเป็นกระทรวง น่าจะดี แต่ต้องคิดมากกว่านี้ โดยมองถึงปัญหาทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพการเรียนการสอน การจูงใจให้เด็กสนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้น รวมถึงเส้นทางการเข้าสู่อาชีพที่ชัดเจน ส่วน สกศ.เห็นว่าหากกลับไปอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี ควรจะดูบทบาทหน้าที่ว่า หากโยกกลับไปอยู่ตรงนั้น สกศ.จะทำอะไรได้มากกว่าอยู่ภายใต้ ศธ.หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดคงต้องทบทวนบทบาทหน้าที่ของ สกศ.ทั้งอดีต และปัจจุบันด้วย "การที่ พล.ร.อ.ณรงค์โยนประเด็นนี้ให้ทั้ง 3 หน่วยงานไปวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียนั้น ผมเห็นเป็นเรื่องดี เป็นการรับฟังและตอบสนองความคิดเห็นของคนหลายกลุ่ม ที่เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ ศธ.ควรจะต้องปรับปรุงโครงสร้าง ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะไปเน้นโครงสร้างมากเกินไป ทั้งที่ ศธ.ควรเน้นพัฒนาเรื่องคุณภาพมากกว่านั้น คงไม่ใช่ เพราะโครงสร้างที่ดีจะช่วยส่งเสริมการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพไปด้วย ดังนั้น เรื่องคุณภาพและโครงสร้างขณะนี้จึงเป็นประเด็นที่ต้องพูดไปพร้อมกัน เพราะต้องยอมรับว่าโครงสร้าง ศธ.ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ยังมีความบกพร่องจริงๆ" นายวันชัยกล่าว นายจีระพงษ์ หอมสุวรรณ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิค (วท.) พิษณุโลก ประธานคณะกรรมการอาชีวศึกษาภาคเหนือ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานศึกษาแนวคิดแยก สอศ.ออกจาก ศธ.กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับผู้อำนวยการ วท.บางแห่งไปบ้างแล้ว และเตรียมเสนอชื่อคณะทำงานให้นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) พิจารณาในวันที่ 13 ตุลาคมนี้ เชื่อว่าจะวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย รวมถึงแนวทางต่างๆ และเหตุผลประกอบว่า ควรจะแยกหรือไม่ หรือมีรูปแบบใดที่จะสามารถขับเคลื่อนการทำงานของ สอศ.ให้ช่วยพัฒนาประเทศได้มากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันงานของสถาบันการศึกษาในสังกัด สอศ.ไม่ได้มีเฉพาะการจัดการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ยังมีงานบริการสังคมในช่วงต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่รับมาจากนโยบายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือเทศกาลต่างๆ นักเรียนนักศึกษาอาชีวะมักจะต้องออกไปบริการสังคม ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนไปในตัว "เท่าที่ดูภาพรวมนโยบายรัฐบาล เน้นให้อาชีวะผลิตกำลังคนเพื่อช่วยพัฒนาประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะตัว รมว.ศธ.ถึงกับลงมากำกับดูแล สอศ.ด้วยตัวเอง คิดว่า รมว.ศธ.น่าจะตั้งใจเข้ามาผลักดันตรงนี้อย่างเต็มที่" นาย จีระพงษ์กล่าว นายศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการศึกษา กล่าวว่า หาก ศธ.เสนอแนวคิดการปรับโครงสร้างกระทรวงมา สปช.คงต้องหยิบขึ้นมาพิจารณา โดยในส่วนของข้อเสนอแยก สอศ.ออกจาก ศธ.นั้น ต้องดูข้อดี ข้อเสีย และศึกษารายละเอียดให้รอบด้าน เพราะขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าประเทศต้องการกำลังคนในสายอาชีพ และ สอศ.เป็นกำลังสำคัญที่จะผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ แต่การจะตัดสินใจพัฒนาไปในทิศทางใด ควรจะแน่ใจว่าเป็นแนวทางที่สามารถดึงดูดให้คนสนใจมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น และสะท้อนถึงคุณภาพในการจัดการศึกษาได้อย่างแท้จริง ส่วนระดับอุดมศึกษา ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยต่างๆ มีข้อเสนอให้แยกอุดมศึกษาออกจาก ศธ.เพราะเหตุผลในเรื่องการทำงาน ที่คิดว่าเมื่อแยกแล้วจะเกิดความคล่องตัว ได้รับความสนใจจากภาครัฐมากขึ้น ทั้งงบประมาณวิจัย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น คงต้องพิจารณาทั้งหมดให้รอบด้าน ว่าจุดเน้นการปฏิรูปการศึกษาขณะนี้ต้องการอะไร "เข้าใจว่าในที่สุด สปช.ต้องดูว่า เราต้องการปฏิรูปอะไร และอะไรที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาคุณภาพ เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีสมรรถนะตรงตามที่ประเทศต้องการ มากกว่าที่จะมุ่งเน้นในเรื่องการปรับโครงสร้างตอนนี้" นาย ศักรินทร์กล่าว นายเมธชนนท์ ประจวบลาภ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ในฐานะคณะบริหารเครือข่ายยุวทัศน์กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จริงๆ แล้วเรื่องโครงสร้าง ศธ.เคยพูดกันในกลุ่มของเครือข่ายเด็กว่าในโครงสร้างเดิมของ ศธ.ก่อนปี 2546 ที่มี 14 กรม มีความคล่องตัว แต่พอแยกเป็น 5 องค์กรหลัก ที่ผู้บริหารระดับสูงแต่ละองค์กรใหญ่เท่ากันหมด การทำงานจึงไม่บูรณาการและไม่สอดคล้องกัน ส่วนตัวเห็นด้วยในการแยกสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และ สกอ.ออกไป ส่วน สอศ.ไม่ควรแยกออก และควรอยู่ใน ศธ.เช่นเดิม เพราะส่วนใหญ่เป็นการจัดการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน "สิ่งที่พวกเราในฐานะเยาวชนคาดหวังเอาไว้ในการปฏิรูปการศึกษา คือการมีหลักสูตรการศึกษาที่ดี สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ของประเทศ เพื่อคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้น ซึ่งการผลักดันเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด เพราะปัญหาคุณภาพการศึกษาเป็นสิ่งที่น่าห่วง ส่วนในประเด็นอื่นๆ เช่น การปรับโครงสร้าง ศธ.เป็นเรื่องรองลงไป นอกจากนี้ พวกผมยังมีความคาดหวังว่า สปช.และรัฐบาลจะมาช่วยผลักดันการปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ และการผลักดันเรื่องนี้ควรสอบถาม หรือรับฟังความเห็นจากนักเรียน ในฐานะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงว่าชอบ หรือไม่ชอบ เพื่อให้มีความเหมาะสมที่สุด" นายเมธชนนท์กล่าว
ที่มา มติชน วันที่ 12 ตุลาคม 2557 |
โพสเมื่อ : 13 ต.ค. 57 อ่าน 1400 ครั้ง คำค้นหา : |