ย้อนยุคสอนภาษาไทยแบบสะกดคำหลังพบเด็กไทยกว่าสองแสนอ่านไม่ออก นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความเห็นในเรื่องการจะนำ แบบเรียนเร็วใหม่ ระดับต้น ระดับกลาง และระดับปลาย ของอำมาตย์โทพระวิภาชน์ วิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวส) กลับมาใช้เป็นแบบเรียนภาษาไทย กับเด็กช่วงชั้นที่ 1 ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1,2 และ 3 เพื่อเป็นแบบเรียนฝึกสะกดคำ ให้เด็กอ่านออก เขียนได้ ว่า เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนไม่เน้นการสอนแบบแจกคำแล้ว แต่เน้นให้เด็กท่องจำเป็นคำๆ ทำให้เมื่อเจอศัพท์ใหม่ จึงไม่สามารถ อ่านประโยคนั้นได้ การนำแบบเรียนเร็วใหม่ กลับมาใช้ เกิดขึ้น จากที่สพฐ. ได้ไปสแกนการอ่านออก เขียนได้ของเด็ก ทั่วประเทศ และพบว่าเด็กป.3 และป.6 อ่านหนังสือไม่ออกจำนวนมาก และอยู่ในช่วงปรับปรุงถึง 200,000 กว่าคน ทำให้ เขตพื้นที่ฯ และโรงเรียนพยายามหาวิธีการปรับการสอนภาษาไทย ซึ่งมีทั้งการสอนแบบเข้มข้น การแยกเด็กกลุ่มนี้ออกมาสอนต่างหาก และการสอนพิเศษเพิ่มเติมให้ ขณะเดียวกันยังพบปัญหาว่าหลักสูตรมีกลุ่มสาระวิชามากเกินไป ต่อไปคงต้องมาพิจารณาทบทวนในการลดกลุ่มสาระวิชาที่สอนสำหรับเด็กเล็ก เพื่อให้มี เวลาสำหรับเรียนภาษาไทย หรือวิชาอื่นเช่น คณิตศาสตร์ เพิ่มมากขึ้น การที่สพฐ.จะนำการเรียนแบบสะกดคำมาใช้ จึงเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาเรื่องการเรียน การสอนภาษาไทย ยังมีมากกว่านี้ ทั้งการสอนให้เด็กคิดเป็น แต่งประโยคเป็น รวมถึงต้องโยงไปถึงการทดสอบวัดผลภาษาไทย การกำหนดเนื้อหาให้สอดคล้องกับการเรียนภาษาแม่ และการวัด ความรู้หรือสมรรถนะภาษาไทยในฐานะที่เป็นภาษาแม่ด้วย ซึ่งการนำแบบเรียนเร็วใหม่กลับมาใช้ดูเหมือนเป็นการย้อนยุค แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะเป็นเรื่องเทคนิค ความรู้พื้นฐานที่ทุกคน ต้องเรียน นายจาตุรนต์ กล่าว ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า |
โพสเมื่อ : 24 เม.ย. 57 อ่าน 1381 ครั้ง คำค้นหา : |