TALIS ประเมินผลและสำรวจการจัดการเรียนรู้นานาชาติ




      
TALIS ประเมินผลและสำรวจการจัดการเรียนรู้นานาชาติ : ประสบการณ์ครั้งแรกของครูไทย


          ประเทศไทยโดยสำนักงานเลขาธิการสถานศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำความร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่รู้จักกันโดยชื่อย่อว่า OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) ในการประเมินผลและสำรวจการจัดการเรียนรู้ของครูระดับนานาชาติ หรือ TALIS : Teaching and Learning International Survey เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ (ค.ศ.2013) ที่ผ่านมา เพื่อยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐานสากล เรียนรู้อย่างเท่ากันต่อสภาวการณ์ปัจจุบันและอนาคตโดยได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทั่วประเทศ ทุกสังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สำนักประสานและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (โรงเรียนสาธิต) การดำเนินงานจะสำรวจครูที่กำลังสอนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.๑-ม.๓) ของโรงเรียนที่มีครูทั้งโรงเรียนไม่ต่ำกว่า ๓ คน และมีผู้บริหารโรงเรียนอีกด้วย
          การดำเนินงานแบ่งเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะที่ ๑ Field Trial เป็นการประเมินและสำรวจตามรูปแบบสากล โดยใช้กรอบแนวทางการประเมินผลทางการศึกษาด้านการจัดการเรียนรู้ของครู จากองค์กรระดับนานาชาติ ในการดำเนินงาน และเตรียมความพร้อม ขั้นตอนนี้มีการสำรวจภาคสนามเป็นเวลา ๑๐ วัน ระหว่างวันที่ ๙ -๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ ในโรงเรียน ๒๐ โรงทั่วประเทศ ส่วนระยะที่ ๒ Main Survey เป็นการประเมินและสำรวจตามรูปแบบสากลที่พัฒนาผลการดำเนินงานจาก Field Trial โดยจะมีการเก็บข้อมูลเต็มรูปแบบ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ๒๕๕๗ มีโรงเรียน ๒๐๐ โรงเรียน ครู จำนวน ๔,๐๐๐ คน และผู้บริหาร จำนวน ๒๐๐ คน
          การประเมินผลและการสำรวจนี้ ใช้การสำรวจในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Online) โดยสำรวจสภาพแวดล้อมการทำงานของครู การเรียนรู้ในโรงเรียนการพัฒนาวิชาชีพครู ความเชื่อและเจตคติของครูเกี่ยวกับการสอน แนวทางการสอนและการประเมินครู ส่วนผู้บริหารโรงเรียนสำรวจความเป็นผู้นำในโรงเรียน และแนวทางการบริหารโรงเรียนในส่วนที่เกี่ยวกับครูผู้สอน ผลจากการประเมินและสำรวจ จะทำให้ได้ข้อมูลองค์ความรู้ที่เป็นประเด็นของการพัฒนาความเป็นมืออาชีพของครู และนำไปใช้กำหนดมาตรการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสำคัญๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ และนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาวิชาชีพครู และแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

          

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน



โพสเมื่อ : 13 ก.พ. 57   อ่าน 1785 ครั้ง      คำค้นหา :