![]() |
สสค. วิเคราะห์การศึกษา บราซิล ใช้ IDEB แก้ปัญหา PISA ตกต่ำ ในการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษา ครั้งที่ 7 โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) มีการระดมความเห็นจากนักวิชาการภายใต้หัวข้อ การใช้ข้อมูลเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยจากประสบการณ์ของประเทศบราซิล เมื่อนำคะแนนการทดสอบ PISA ปี 2543 และ 2552 ระหว่างประเทศไทยกับประเทศบราซิลมาเปรียบเทียบกัน พบว่าสมรรถนะด้านความเข้าใจจากการอ่าน (Reading Literacy) ของนักเรียนไทยปี 2552 ลดลง 10 คะแนน จากปี 2543 ขณะที่บราซิลเพิ่มขึ้น 12 คะแนน สมรรถนะทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) ของนักเรียนไทยปี 2552 ลดลง13 คะแนน จากปี 2543 ส่วนบราซิลเพิ่มขึ้น 30 คะแนน และสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy) ของนักเรียนไทยปี 2552 ลดลง 11 คะแนน จากปี 2543 แต่บราซิลเพิ่มขึ้น 15 คะแนน ขณะที่ ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า นักวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ปัญหาดั้งเดิมของบราซิลคือ คุณภาพครูส่วนใหญ่มีวุฒิ ม.6 เท่านั้น ขณะที่ประเทศไทยครูส่วนใหญ่จบวิชาชีพครูโดยตรง แต่ว่าการศึกษาของประเทศบราซิลกลับก้าวหน้ารวดเร็วกว่าไทยไปอย่างมาก เพราะบราซิลใช้ระบบอีเด็ปเพื่อจัดการข้อมูลการวัดผลและเลื่อนชั้นของนักเรียน จนทำให้เกิดประสิทธิภาพในสถานศึกษา และกระตุ้นความตื่นตัวของมวลชน โดยบราซิลจะมีการจัดระเบียบข้อมูลการศึกษาพื้นฐานของเด็กแต่ละคนไว้ ซึ่งคล้ายกับของ สพฐ.แต่ต่างกันตรงที่ว่าระบบข้อมูลอีเด็บสามารถรายงานได้ว่าในประเทศ และแต่ละจังหวัดมีนักเรียนจำนวนกี่คน มีโรงเรียนจำนวนกี่แห่ง นักเรียนได้คะแนนแต่ละวิชาเท่าใดบ้าง และมีจำนวนนักเรียนที่ผ่านการเลื่อนชั้นในแต่ละโรงเรียนกี่คน จากนั้นจึงมีการรายงานข้อมูลทั้งหมดไปสู่สาธารณะ เพื่อแต่ละโรงเรียนจะได้นำไปวิเคราะห์เป้าหมายและการจัดยุทธศาสตร์ในปีถัดไป ซึ่งทำให้อีเด็บเป็นระบบที่สัมฤทธิผล ที่มุ่งเน้นให้มีการเปรียบเทียบผลงานของโรงเรียนตนเอง ไม่ใช่การกำหนดเกณฑ์กลางให้ทุกโรงเรียนทำได้เท่ากัน ขณะที่ประเทศไทยมีการจัดเก็บข้อมูลเช่นกัน แต่ข้อมูลไม่มีความละเอียดพอ และมักไม่มีการเปิดเผยผลประเมินคุณภาพกลับสู่สถานศึกษา จึงไม่เกิดการวิเคราะห์และนำไปพัฒนาที่ชัดเจน นอกจากนี้ ดร.วรลักษณ์ ยังกล่าวอีกว่า อีเด็บเป็นครื่องมือให้รัฐบาลท้องถิ่นมอบรางวัลแก่สถานศึกษาที่มีคุณภาพสูง และให้งบประมาณพัฒนาสถานศึกษาที่ประสบปัญหาด้านคุณภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงการเพิ่มเงินลงทุน น.พ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ระบบข้อมูลสารสนเทศของบราซิลแตกต่างกับประเทศไทยตรงที่เป็นระบบข้อมูลเปิดให้สาธารณะสามารถเลือกใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาครูและพัฒนาระบบคุณภาพการศึกษาได้ บราซิลมีวิธีจัดสรรทรัพยากรที่ผูกกับตัวเด็ก ทำให้ข้อมูลเด็กไม่หล่นหาย ซึ่งระบบอีเด็บจะช่วยให้รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นสามารถจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น บางรัฐจัดมาตรการให้รางวัลมุ่งตรงไปสู่ตัวครู บางรัฐให้เงินอุดหนุนทั้งโรงเรียน หรือบางรัฐมุ่งถมความยากจนของครอบครัวเด็ก ด้วยการให้เงินอุดหนุนเพื่อซื้อโอกาสทางการศึกษาของเด็กกลับมาสู่ระบบ ส่วนการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของคุณภาพการศึกษาในบราซิลนั้น สำคัญอยู่ที่ตัวชี้วัด ซึ่งไม่ได้ใช้ระบบการแข่งขันกันที่ผลลัพธ์ของเด็ก แต่เป็นการให้แต่ละโรงเรียนตั้งเป้าตัวชี้วัดด้วยตัวเอง จนทำให้เกิดผลในการพัฒนาระบบการศึกษาแตกต่างกันไปตามแต่มลรัฐประเทศบราซิลพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ในห้วงเวลาเกือบ 10 ปี คุณภาพและความเท่าเทียมทางการศึกษาสามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้จากระบบการจัดเก็บ และการกระจายข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น หากฐานข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งในประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและประเทศชาติได้ไม่แพ้บราซิลเช่นกัน ที่มา: http://www.prachachat.net |
โพสเมื่อ : 12 ก.พ. 57 อ่าน 1984 ครั้ง คำค้นหา : |