ขรก.แห่ลาออกสมาชิก กบข.กลับรับบำนาญ คาดยอดพุ่งกว่า2แสน



นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) เปิดเผยว่า หลังจาก พระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการ พ.ศ. 2494 พ.ศ. 2557 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2557 พบว่า ปัจจุบันมีข้าราชการใช้สิทธิ เพื่อขอกลับไปรับบำนาญตามสูตร พ.ศ. 2494 แล้วประมาณ 1 หมื่นคน จากสมาชิกที่มีสิทธิ์ลาออกทั้งสิ้น 7 แสนคน คาดว่าภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการใช้สิทธิ์ลาออก จะมีสมาชิกลาออกราว 2.1 แสนคน หรือ 30% ของสมาชิกที่มีสิทธิ์ลาออก และอยู่ต่อ 5 แสนคน หรือ 70 % ของสมาชิกที่มีสิทธิ์ลาออก


สำหรับเงินสะสมพร้อมผลตอบแทนซึ่งเป็นเงินที่หักจากรายเงินเดือน 3 % ของข้าราชการรายนั้น และเป็นเงินเพียงก้อนเดียวที่ผู้ประสงค์จะลาออกจะได้รับ คาดว่าจะใช้เงินทั้งสิ้น 4 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินประเดิม เงินชดเชย และเงินสมทบจากรัฐทั้งสิ้น 9 หมื่นล้านบาท ยังอยู่ใน กบข.เพื่อนำมาบริหารงานต่อไป


“กรณีที่เลวร้ายที่สุดจะมีผู้ใช้สิทธิลาออกประมาณ 350,000 คน หรือ 50 % ของผู้มีสิทธิ์ลาออก คาดว่าจะใช้เงินไม่เกิน 65,000 ล้านบาท ซึ่งกบข. เตรียมแผนรับมือไว้แล้ว โดยกบข. มีรายรับจากการหักเงินเดือนและเงินสมทบประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากเงินปันผลและค่าเช่าอื่นๆ ด้วย ขณะที่มีรายจ่ายให้สมาชิกที่เกษียณราว 2 หมื่นล้านบาทต่อปี สุทธิแล้วกองทุนจะมีรายได้มากกว่ารายจ่าย 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะนี้กบข. มีสินทรัพย์สุทธิ 703,809 ล้านบาท ดังนั้น การจ่ายเงินคืนคนลาออก จะไม่ส่งผลกระทบต่อการสร้างอัตราผลตอบแทน ความมั่นคงของกองทุน และไม่จำเป็นต้องขายสินทรัพย์ที่ถืออยู่ออกไป สินทรัพย์จะกลับมาเป็นปกติในช่วงกลางปี 2558 ”นายสมบัติกล่าว


จากการสำรวจความคุ้มค่าการลาออกพบว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่ลาออกจะเป็นข้าราชการทหาร ตำรวจ ที่มีสิทธิได้อายุการทำงานพิเศษมากกว่าอายุ 60 ปี ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ถือว่าคุ้มค่า แต่กลุ่มอื่นที่จะลาออก หากวัดตามผลประโยชน์ที่ได้รับถือว่าไม่คุ้มเพราะ ส่วนต่างเงินเกษียณแบบเดิมน้อยกว่าเงินก้อน ส่วนใหญ่ลาออกเพราะความเข้าใจเรื่องสิทธิประโยชน์ผิดไปจากความเป็นจริง โดยมีความเชื่อที่ผิดว่า หากเข้าเป็นสมาชิกจะได้รับเงินหลักเกษียณเพียงแค่เงินก้อนที่เป็นดอกผลและ เงินต้นจากเงินสะสมหักจากรายได้หักจากเงินเดือนของข้าราชการ3 % และเงินที่รัฐประเดิม สมทบ รวมทั้งเงินชดเชยอีก 5 % เท่านั้น


ดังนั้น กบข. จึงเร่งทำความเข้าใจในหลักการว่า หลังจากเกษียณข้าราชการที่เข้าเป็นสมาชิก กบข. จะได้รับเงินบำนาญรายเดือนจนเสียชีวิตเช่นเดิม เพียงแต่อัตราเงินที่ได้รับในแต่ละเดือนจะมีสูตรคำนวณแตกต่างไปเล็กน้อย


นอกจากนี้สมาชิกจะได้รับสวัสดิการข้าราชการเหมือนระบบบำนาญเดิม รวมทั้งเงินก้อนที่หักจากรายได้และเงินประเดิมชดเชย เงินสมทบจากภาครัฐ และดอกผลที่สะสมในระหว่างทำงานอีกก้อนหนึ่ง หากลาออกสมาชิกจะไม่ได้รับเงินก้อนดังกล่าว และอาจต้องจ่ายเงินบางส่วนให้รัฐด้วย


นายสมบัติกล่าวว่า สำหรับอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจะอยู่ในระดับเดียวกับการกองทุนรวมที่ให้ น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ หรือผลตอบแทนอาจมากกว่าในบางช่วงเพราะ กองทุนกบข. ได้ลงทุนในหุ้น และอสังหาริมทรัพย์ ในช่วง 17 ปี สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ย 6.9 % ต่อปี ส่วนผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 2557 ถึงปัจจุบันทำได้ 5.9 % ลดลงเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรวมทั้งผลตอบแทนในการลงทุนหุ้นลดลง สอดคล้องกับภาวะการเงินของโลก คาดว่าปี 2558 จะทำได้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ 2-3 %



สำหรับสัดส่วนการลงทุน กบข. ลงทุนในพันธบัตร 63-64 % หุ้นในประเทศ 11.5 % หุ้นต่างประเทศ 14 % และที่เหลือลงในอสังหาริมทรัพย์และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม กบข.อยู่ในระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอแก้เกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศเป็น 35-40 % จากปัจจุบันกำหนดที่ 25 % เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้มากขึ้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2557


โพสเมื่อ : 24 ธ.ค. 57   อ่าน 1580 ครั้ง      คำค้นหา :