"สมพงษ์"จวกร่างปฏิรูปศึกษาตีไม่ตรงจุด ประเด็นสำคัญถูกกลืน/ชี้อาจส่งผลขาดแรงผลักดันบรรลุเป้



"สมพงษ์"จวกร่างปฏิรูปศึกษาตีไม่ตรงจุด ประเด็นสำคัญถูกกลืน/ชี้อาจส่งผลขาดแรงผลักดันบรรลุเป้าหมาย

 

"สมพงษ์" จวกยับ สปช.ร่างกฎหมายปฏิรูปการศึกษาแก้ปัญหาของประเทศไม่ตรงจุด กว้างเกินไปจนขาดความชัดเจน ประเด็นสำคัญถูกกลืนหายไม่เด่นชัด อาจส่งผลให้ไม่มีแรงผลักดันการปฏิรูปให้ประสบผลสำเร็จ ในทางกลับกัน ในบางข้อไม่ควรระบุแต่เขียนไว้ "อมรวิชช์" แจงแค่ก้าวแรก จะมี กม.ลูกที่กำหนดรายละเอียดตามมา

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงร่างเนื้อหาด้านการศึกษาที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จัดทำขึ้นเพื่อบรรจุในรัฐธรรมนูญ ที่มีสาระสำคัญ 7 ข้อ ว่า จากข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตนคิดว่าการเขียนกฎหมายที่สำคัญระดับประเทศ หากเขียนในความหมายที่กว้างเพื่อในครอบคลุมในทุกเรื่อง ตัวกฎหมายดังกล่าวจะออกมาในลักษณะการบอกเล่า ที่ทำหน้าที่บอกว่ารัฐควรจะทำอะไร รัฐจะมีอะไรเท่านั้น ไม่สามารถบังคับใช้ สร้างแรงผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา และอาจจะทำให้ตีความในด้านเนื้อหาแตกต่างกันออกไปได้ อีกทั้งวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะต้องเขียนสั้น กระชับ เพื่อที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุดและชัดเจน

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าการร่างกฎหมายให้มีเนื้อหาที่ครอบคลุมจะส่งผลให้ประเด็นปัญหาที่ สำคัญทางด้านการศึกษาของประเทศถูกกลืนและไม่เด่นชัด ทั้งยังไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างตัวร่างกฎหมายกับประเด็นปัญหาด้านการศึกษา ของประเทศอีกด้วย และในร่างเนื้อหาดังกล่าวถือว่ามีการบรรจุคำสำคัญไว้ อย่างเช่น ความรับผิดชอบ ซึ่งตนคิดว่าในเรื่องของความรับผิดชอบนั้นไม่ควรจำกัดอยู่แค่ผู้บริหารและ สถานศึกษา แต่ควรที่จะครอบคลุมไปถึงฝ่ายการเมือง, กระทรวงศึกษาธิการ, (ศธ.) คณะกรรมการที่จะเข้ามาดูแลการปฏิรูปให้มีความต่อเนื่อง และกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาแทรกแซงในตัวนโยบาย ทำให้การศึกษาไม่เกิดการพัฒนา ทุกฝ่ายควรจะต้องมีส่วนในการรับผิดชอบร่วมกันหากการศึกษาที่จัดไปแล้วล้ม เหลว และควรจะบัญญัติการสร้างให้คนในประเทศ ให้เป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรียนรู้ในเรื่องสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ให้เป็นหน้าที่ของรัฐ เพราะขณะนี้ประเทศไทยประสบกับปัญหาที่คนในประเทศมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ถือเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของประเทศ และในอดีต ศธ.ก็ไม่เคยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาดูแลเลย

นักวิชาการกล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีทั้งในชุมชนเมืองและชนบทนั้น ก็ถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญของรัฐอีกประการหนึ่งที่จะต้องจัดสรรให้มีความเท่า เทียมกัน และในบางข้อควรที่จะอยู่ในกฎหมายด้านการศึกษามากกว่าที่จะถูกบรรจุลงในรัฐ ธรรมนูญ
“ผมคิดว่าในบางข้อควรที่จะอยู่ในกฎหมายด้านการศึกษามากกว่าที่จะถูกบรรจุลง ในรัฐธรรมนูญ เช่น ข้อ 6 รัฐต้องส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ในสังคมไทย โดยให้มีแหล่งเรียนรู้และสื่อสาธารณะด้านการศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรม และศาสนา เพื่อบ่มเพาะจิตสำนึกความเป็นพลเมืองไทยที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นต้น เพราะเนื้อหาในรัฐธรรมนูญควรที่จะเป็นหลักการที่สำคัญของรัฐ และในข้อดังกล่าว เนื้อหาเป็นไปในเรื่องของการศึกษามากเกินไป ควรใส่ไว้ในกฎหมายด้านการศึกษามากกว่า เพื่อที่จะให้เป็นตัวขับเคลื่อนเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ และจากสาระสำคัญทั้ง 7 ข้อนี้ ผมคิดว่าอยู่ในระดับที่ดี แต่ยังไม่ดีที่สุด” สมพงษ์กล่าว

ด้านนายอมรวิชช์ นาครทรรพ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กล่าวว่า การร่างเนื้อหาด้านการศึกษาเพื่อบรรจุลงในรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะไม่ใช่การร่างกฎหมายจำนวน 200 หน้าเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 50 แต่จะลงรายละเอียดของเรื่องต่างๆ ในตัวกฎหมายลูก ที่ขณะนี้กำลังประสานกับ ศธ.เพื่อแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ กฎกระทรวงต่างๆ ซึ่งในส่วนของรายละเอียดที่จะสร้างความชัดเจนในแต่ละเรื่องจะมีการดำเนินการ ต่อไป และนอกจากนี้มีความคิดเห็นจากหลายกระแส ว่าควรจะเพิ่มในหลายเรื่อง ซึ่งในเรื่องสื่อการเรียนการสอนก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อเป็นการบังคับรัฐไปในตัวให้มีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) สร้างสื่อเพื่อการศึกษา ก่อนหน้านี้ใน กมธ.ปฏิรูปการศึกษาฯ ก็มีการถกเถียงกันว่าจะมีการบรรจุหรือไม่ จนได้ข้อสรุปว่าจะต้องบรรจุ เพราะเรื่องสื่อไอซีทีเป็นเรื่องที่สำคัญและอยู่ในแผนมหภาคของประเทศ และเมื่อร่างเนื้อหาด้านการศึกษาเข้าไปสู่กระบวนการของ กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะมีการเพิ่มเติมในเรื่องอื่นได้ เช่น ครู เป็นต้น

นายอมรวิชช์กล่าวต่อว่า ตัวกฎหมายแม่บทที่จะร่างลงในรัฐธรรมนูญนี้เกี่ยวข้องกับแผนมหภาคของประเทศ หลายๆ ด้าน ทั้งนี้ ในส่วนของความรับผิดชอบในการจัดการศึกษา ตนไม่อยากให้มองว่าเป็นการโยนภาระไปที่สถานศึกษา เพราะจริงๆ แล้วความรับผิดชอบมีอยู่ในทุกระดับ ไล่เรียงกันลงไป แต่ในอุดมคติของการกระจายอำนาจคือกระจายไปยังโรงเรียน เพราะฉะนั้นโรงเรียนก็จะเป็นหลักให้การรับผิดชอบทั้งในเรื่องดีและไม่ดี แต่จะรับผิดชอบในด้านใดบ้างนั้นต้องกำหนดในกฎหมายลูกอีกครั้งหนึ่ง

“ผมคิดว่าขณะนี้ขอให้มองร่างกฎหมาย 7 ข้อเสนอเป็นเรื่องของหลักการก่อน เพื่อให้กฎหมายลูกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมีแนวปฏิบัติมาจากร่างดังกล่าว และในขั้นตอนการลงรายละเอียดของกฎหมายลูก จะมีกระบวนการการรับฟัง เชิญนักวิชาการ ประชาชน และเยาวชนมาช่วยระดมกันคิด เพราะกฎหมายลูกที่ต้องแก้ไขนั้นมีจำนวนมาก และจะทำ 7 ข้อเสนอดังกล่าวมีความชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ กมธ.ก็จะเดินหน้าลงรายละเอียดต่อไป นี่เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น” โฆษก กมธ.ปฏิรูปการศึกษาฯ กล่าว และว่า สำหรับในส่วนของการสร้างคนให้เป็นพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข ข้อนี้เป็นความเห็นที่ กมธ.ในทุกคณะแสดงออกอย่างตรงกัน จึงจัดอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญรวม เพื่อบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของการศึกษาเท่านั้น.

 

 

 

ที่มา ไทยโพสต์ 5 ธันวาคม 2557


โพสเมื่อ : 07 ธ.ค. 57   อ่าน 1384 ครั้ง      คำค้นหา :