เลาะเลียบคลองผดุงฯ
ตุลย์ ณ ราชดำเนิน [email protected]
ไม่รู้ว่าการตีความของเลขาธิการสภาการศึกษา ที่เสมา 1
มอบหมายสั่งการให้เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
เป็นเจ้าภาพดูแลการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ
โดยให้ไปตั้งทีมงานรวบรวมความเห็นผู้เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกเรื่อง
จะเป็นเรื่องที่เข้าใจตรงกันหรือคนละเรื่องเดียวกัน
วันนี้ยังไร้คำตอบเพราะยังไม่เห็นงาน
แต่ขอมอบหมายสั่งการให้สกศ., อาชีวศึกษา และการอุดมศึกษา
ไปศึกษาข้อดี-ข้อเสียว่าหาก 3 องค์กรดังกล่าวจะแยกออกจากกระทรวงศึกษาธิการ
(ศธ.) ตรงนี้น่าจะมาทีหลัง ปรากฏขยับมาเร็วกว่าทุกเรื่อง
คราวนี้ สกศ.มาเหนือเมฆแปลงร่างเป็นแม่งูเอ๋ย รวบหัวรวบหางกินกลางตลอดตัว
นำธงลุยถั่วด้วยการนำเสนอตั้งบอร์ดใหญ่คุมการศึกษาทั้งระบบ มีอำนาจเหนือศธ.
หรือหน่วยงานต่างๆ ที่จัดการศึกษาทั้งประเทศ
โดยตั้งคณะกรรมการหรือบอร์ดนโยบายการศึกษา ทำหน้าที่บริหารนโยบาย
มอนิเตอร์ภาพรวมการจัดการศึกษาทุกภาคส่วน
ไล่มาจนถึงวางแผนการจัดการเรียนการสอน
และการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการทั้งระบบ รับเหมาดูแลเป็น
พระนารายณ์อยู่องค์เดียว
เล่นเอาศธ.ที่ว่าใหญ่แล้ว จ๋อยสนิทกับไอเดียกระฉูดของเลขาธิการสกศ.มือใหม่
ที่ทำเหมือนไม่เข้าใจบทบาทเนื้องาน อันเป็นพันธกิจที่แท้จริงของตัวเอง
ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้ สกศ.ก็มีบอร์ดใหญ่มีรมว.ศธ. เป็นประธาน
ตามด้วยกรรมการโดยตําแหน่ง 16 คน กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรต่างๆ 11 คน
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 30 คน
ทำหน้าที่พัฒนาแผนการศึกษาแห่งชาติ
นโยบายและมาตรฐานการศึกษาชาติให้เต็มคุณภาพ
เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้ เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน
หาทางส่งเสริมการวิจัย การจัดการศึกษา
และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้เกิดผล
นี่ยังไม่รวมส่งเสริมการประเมินผลการพัฒนาการศึกษาของประเทศ
พัฒนากฎหมายการศึกษาให้เอื้อต่อการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
และให้ความเห็นหรือคำแนะนำกฎหมายและกฎกระทรวง อีกด้วย
คงมีคำถามกลับ ที่ผ่านมาพันธกิจเพื่อการศึกษาชาติตรงนี้
สกศ.ได้ทำกันเต็มที่แล้วหรือยัง
หรือจะรอแค่การชี้นิ้วจากรัฐมนตรีที่มาจากการเมืองหรือมาจากใครที่ไหนไม่รู้
อย่างเดียว
และการไม่รู้ลำดับความสำคัญว่าอะไรควรทำก่อน-หลัง นี่ล้วนเป็นการวัดคุณภาพผู้นำได้เช่นกัน
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557