"ปรับลดกิจกรรมการเรียน-สอบโอเน็ต" ประเด็นปฏิรูปการศึกษาในยุคนี้




 

 

 

ดร.อมรวิชญ์ นาครธรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์หลังร่วมงานเสวนา "จากโลกถึงไทยกับทิศทางใหม่ในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่21" ว่า มีการประสานงานกับทางสพฐ.แล้ว เบื้องต้นมีเป้าหมายปรับลดเวลากิจกรรมประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ของเวลาเรียน ซึ่งน่าจะเป็นอัตราที่ไม่กระทบต่อการเรียน

ส่วนเรื่องการปรับลดจำนวนการสอบ ONET ดร.อมรวิชญ์ มองว่า ในระยะยาวการสอบ ONET ไม่ควรบังคับเด็กทุกคนสอบเพราะจะนำไปสู่การกวดวิชาที่ส่งผลต่อความเหลื่อม ล้ำทางการศึกษา
ในขณะที่ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ONET ยังมีความสำคัญในด้านการวัดค่ามาตรฐานการศึกษาของประเทศ โดยมองว่า เนื้อหาใน 8 กลุ่มสาระ อาจไม่เพียงพอต่อการศึกษาในโลกอนาคต

"โลกในอนาคตไม่ใช่โลกที่พูดถึงวิชาการ 8 สาระการเรียนรู้อีกต่อไป แต่จะพูดถึงทักษะในศตวรรษที่21 ไม่ใช่แค่การอ่านออกเขียนได้ แต่ต้องมีทักษะที่อยู่ร่วมกับคนในโลกได้ ต้องมีทักษะที่ทำงานเป็นทีมได้ ต้องมีทักษะที่ทำงานกับคนต่างวัฒนธรรมได้ ต้องคิดใหม่เป็น และเราต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต"

สำหรับการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI มองว่า การปฏิรูปยังมาไม่ถูกทางนัก การศึกษาในไทยยังใช้เวลาเรียนมากแต่ได้ประสิทธิผลน้อย

"ทุกครั้งที่มีปัญหาอะไรในสังคม มีแนวโน้มที่ผู้ใหญ่ในรัฐบาล ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา จะพยายามยัดเยียดเนื้อหาใหม่ๆ ใส่เข้าไปให้นักเรียนได้เรียนรู้กันมากขึ้น(13วิ) แต่นักเรียนเมื่อเรียนไปแล้ว ไม่สามารถจับแก่นของวิชาได้ จับได้แต่เปลือก เพราะว่าเรียนแบบตื้นเขินกันเกินไป(9วิ) ที่ผ่านมาแทบทุกรัฐบาลหลงทางกันหมด"

การปฏิรูปการศึกษาจะบรรลุผลสำเร็จได้ ต้องเริ่มจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และเกิดการกระจายอำนาจไปสู่ภาคการศึกษาในท้องถิ่น เพราะถึงที่สุดแล้ว โจทย์ของประเทศเป็นอย่างไร โจทย์การศึกษาไทยก็เป็นเช่นนั้น

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2558


โพสเมื่อ : 02 เม.ย. 58   อ่าน 1667 ครั้ง      คำค้นหา :