รับตรงเข้าอุดมศึกษาอธิการ-นร.รุมต้านไม่เชื่อมั่นข้อสอบกลาง
รับตรงเข้าอุดมศึกษาอธิการ-นร.รุมต้านไม่เชื่อมั่นข้อสอบกลาง
อธิการบดี มธ.-นักเรียนค้านรับตรงสอบร่วมกัน เหตุไม่เชื่อมั่นข้อสอบกลาง ส่วนราชมงคลจี้หาวิธีแก้ผลกระทบหวั่นมหาวิทยาลัยขนาดเล็กจำนวนเด็กน้อยลง กลุ่มแพทย์เร่งถก กรณีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมหาวิทยาลัยต่างๆ มีความเห็นร่วมกันว่าจะปรับวิธีการสอบคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยแบบรับตรง จากต่างฝ่ายต่างจัดสอบคนละวันเวลา เป็นการจัดสอบโดยใช้ข้อสอบกลางพร้อมกันในวันเวลาเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบของนักเรียนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดสอบ ผศ.พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม ประธานคณะทำงานแอดมิชชั่นส์ ฟอรั่ม ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ภาพรวมมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ขัดในหลักการ แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีสาขาวิชาที่หลากหลายมากกว่า 3,500 สาขา หากจะต้องจัดสอบร่วมกันจริง คงต้องหารือในรายละเอียดว่าจะจัดสอบอย่างไร โดยในการประชุม ทปอ.ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือรายละเอียดเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ด้าน ศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา (ม.พ.) กล่าวสนับสนุนเห็นด้วยที่จะจัดสอบตรงร่วมกัน เพื่อไม่ให้เด็กต้องวิ่งรอกสอบหลายสถาบันดังเช่นที่ผ่านมา และสามารถนำคะแนนที่เป็นมาตรฐานกลางไปยื่นรับตรงได้ทุกแห่ง ขณะที่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เห็นว่า จะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการสอบรับตรงจะเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องของระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง หรือแอดมิชชั่นส์ ที่ไม่สามารถคัดเลือกนักศึกษาเข้าเรียนได้ตามความถนัด คณะ สาขาต่างๆ จึงต้องไปจัดสอบเอง เพื่อคัดเลือกนักเรียนให้ตรงตามที่มหาวิทยาลัยต้องการ ข้อสอบที่แต่ละมหาวิทยาลัยใช้จะแตกต่างกัน แม้จะเป็นคณะเดียวกัน อาทิ คณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ข้อสอบรับตรงที่แต่ละแห่งออกก็ไม่เหมือนกัน เพราะมีจุดเน้นต่างกัน และที่สำคัญ ขณะนี้มหาวิทยาลัยที่จัดสอบตรงส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้คะแนนสอบวิชาสามัญในการรับเด็กแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้แต่วิชาเฉพาะ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องบังคับให้เด็กสอบวิชาสามัญอีก ศ.ดร.สมคิด กล่าว รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะจัดสอบรับตรงร่วมกัน โดยใช้ข้อสอบกลางเหมือนกัน เพราะจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและลดการวิ่งรอกสอบของเด็ก แต่ควรให้ทุกมหาวิทยาลัยทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเข้าร่วมสอบด้วย โดยจะใช้วิธีการอย่างไร ควรจะหารือร่วมกัน เพื่อคัดเลือกนักเรียนให้ตรงกับมหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่ม เช่นเดียวกับ รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดี มทร. 9 แห่ง กล่าวว่า น่าจะจัดสอบในระบบรับตรงพร้อมกันทั้งหมดทั่วประเทศตั้งนานแล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้แต่ละมหาวิทยาลัยต่างคนต่างทำเหมือนที่ผ่านมา แต่การที่มหาวิทยาลัยจะเห็นดีเห็นงาม ให้สอบรับตรงพร้อมกันทั้งหมดนั้นก็ใช่ว่าจะมองแค่เพียงเพื่อต้องการลดปัญหาการวิ่ง รอกสอบของเด็กเท่านั้น แต่ควรมองปัญหาอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างรอบด้าน และคิดที่จะหาแนวทางออกไว้ด้วย เช่น หากสอบพร้อมกันทั้งหมดแน่นอนว่ามหาวิทยาลัยขนาดเล็กย่อมได้รับผลกระทบในเรื่องของตัวเลขนักศึกษาตามมา หรืออาจจะมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย แล้วจะมีทางออกกันอย่างไร เป็นต้น ส่วนความคิดเห็นของนักเรียน นายธนาธรณ์ ธนาเลขะพัฒน์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เห็นด้วยที่จะให้จัดสอบรับตรงร่วม แต่อยากขอให้คณะหรือสาขาที่จำเป็นต้องสอบวิชาที่จำเป็นต้องมีการสอบภาคปฏิบัติหรือมีการสอบวิชาเฉพาะ ก็อยากให้มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมกลุ่มกันและจัดสอบในครั้งเดียว และให้นักเรียนสามารถนำผลไปยื่นเพื่อเข้าเรียนต่อได้ทุกที่ โดยไม่ต้องไปสอบหลายที่เช่น ที่ผ่านมา ด.ช.ภูมิ พรหมวาทย์ นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการสอบตรงร่วมกัน เนื่องจากแต่ละแห่งมีมาตรฐานไม่เท่ากัน และเกณฑ์การออกข้อสอบก็แตกต่างกัน ที่สำคัญเชื่อมั่นในข้อสอบที่ออกโดยมหาวิทยาลัยว่าจะคัดเลือกคนเข้าเรียนได้เหมาะสมตามความถนัดมากกว่าข้อสอบที่ออกโดยหน่วยงานกลาง ส่วนกรณีที่จะต้องวิ่งสอบหลายที่นั้น โดยส่วนตัวคิดว่าไม่มีปัญหา ถ้าเราอยากเข้าเรียนที่ใดก็เลือกไปสอบที่นั่น สำหรับการที่ สกอ.จะเสนอให้ ทปอ.หารือกับกลุ่มแพทยศาสตร์แห่งประเทศ ไทย (กสพท.) เริ่มใช้กับการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ ก่อนการสอบของคณะอื่น โดยเริ่มในปีการศึกษา 2559 เพื่อลดปัญหานักเรียนที่สอบติดคณะแพทยศาสตร์ มักสละสิทธิ์ที่สอบได้ในคณะอื่น ศ.นพ.อาวุธ ศรีสุกรี เลขาธิการ กสพท. กล่าวว่า กรณีที่มีข้อเสนอให้ไปหารือให้กลุ่ม กสพท.เลื่อนสอบรับตรงจากเดิมให้เร็วขึ้น เพื่อให้นักเรียนไม่ไปสละสิทธิ์ที่อื่นส่งผลให้เกิดการกันสิทธิ์นั้น ยังไม่สามารถบอกได้ว่ากลุ่มแพทย์จะสามารถเลื่อนสอบรับตรงได้หรือไม่ เนื่องจากยังไม่ทราบรายละเอียดและยังไม่ได้รับการประสานจาก ทปอ. ถ้าหาก ข้อเสนอของ สกอ.และทปอ.เป็นไปเพื่อประโยชน์ของเด็ก ทาง กสพท.ก็ยินดีให้ความร่วมมือ ที่ผ่านมา กสพท.ได้ปรับเปลี่ยนระบบการสอบรับตรงหลายครั้ง แต่ทุกครั้งจะเป็นการปรับโดยคำนึงถึงความต้องการ อำนวยความสะดวก และประโยชน์ของเด็กอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม จะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าที่ประชุมกลุ่ม กสพท.ในปลายเดือนมิถุนายนนี้ ศ.นพ.อาวุธ ระบุ
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก |
โพสเมื่อ :
30 พ.ค. 57
อ่าน 1623 ครั้ง คำค้นหา :
|
|