![]() |
นโยบายปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ศธ.ประกาศระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 6 มาตรการ นางอ่องจิต เมธยะประภาส รองเลขาธิการคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน(รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รักษาการ รมว.ศธ.) ได้ลงนามในประกาศ ศธ.เรื่องนโยบายการปฏิรูปการเรียนการสอน ภาษาอังกฤษ โดยได้กำหนด 6 นโยบาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ให้ผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความรู้ความสามารถ ในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือเข้าถึงองค์ความรู้และก้าวทันโลก รวมถึงพัฒนาตนเองเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยดังต่อไปนี้ 1.ให้ใช้กรอบมาตรการความสามารถทางภาษาอังกฤษที่เป็นสากล ได้แก่ The Common European Framework of Reference for Languages (CEFR)เป็นกรอบความคิดหลักในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศไทย ทั้งในการออกแบบหลักสูตร การพัฒนาการเรียนการสอน การทดสอบ การวัดผล การพัฒนาครู รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ 2.ปรับจุดเน้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เป็นไปตามธรรมชาติของการเรียนรู้ โดยเน้นการสื่อสาร ที่เริ่มจากการฟัง ตามด้วยการพูด การอ่านและการเขียนตามลำดับ 3.ส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่มีมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานหลัก ด้วยหลักสูตรแบบเรียน สื่อการเรียนการสอน แต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันได้ ทั้งตามความพร้อมของแต่ละสถานศึกษา และแสดงถึงความถนัดและความสนใจของผู้เรียน 4.ส่งเสริม การยกระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ อาทิ ขยาย โครงการพิเศษด้านการเรียนการสอนในหลักสูตรอิงลิชโปรแกรม(English Program)หรืออีพี, มินิอีพี, อินเตอร์เนชั่นแนลโปรแกรม(International Program)แก่ผู้ที่มีความสามารถทางวิชาการสูง, อิงลิช ไบลิงกัว เอ็ดดูเคชั่นส์ (English Bilingual Education) โดยจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และศิลปการศึกษาแบบสองภาษา พัฒนาห้องเรียนสนทนาภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะการฟังและการพูดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง และให้มีการเรียนการสอนวิชาสนทนาภาษาอังกฤษเป็นการทั่วไปและมีการเรียนการสอนแบบเข้มข้น รวมถึงจัดให้เป็นสาระเพิ่มเติมในลักษณะวิชาเลือกได้ด้วย เพื่อให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามความสนใจ ความถนัดและศักยภาพ เป็นต้น 5.ยกระดับความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของครู ให้สอดคล้องกับวิธีการเรียนที่เน้นการสื่อสาร 6.ส่งเสริม ให้มีการใช้สื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาความสามารถทางภาษาของครูและผู้เรียน อย่างไรก็ตามเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย ดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพกำหนดให้หน่วยงานที่ต้องจัดการเรียนการสอนนำนโยบายไปปฏิบัติโดยคำนึงถึงศักยภาพของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา แต่ละแห่ง รวมทั้งบริบทและความต้องการของพื้นที่ที่ แตกต่างกัน โดยหลังจากออกประกาศศธ.แล้วสพฐ.จะจัดทำแนวปฏิบัติแจ้งไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อใช้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 ซึ่งโรงเรียนสามารถเริ่ม จัดการเรียนการสอนได้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 (ป.1) เป็นต้นไป ตามศักยภาพและความพร้อม ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า |
โพสเมื่อ : 30 ม.ค. 57 อ่าน 2285 ครั้ง คำค้นหา : |