เดินหน้าบริหารจัดการโครงการนมโรงเรียน




      

เดินหน้าบริหารจัดการโครงการนมโรงเรียน

           นมโรงเรียนเป็นนโยบายของรัฐบาลไทยที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2535  เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารในเด็กวัยเรียนและสนับสนุนอุตสาหกรรมโคนมไทย  โดยใช้น้ำนมดิบจากเกษตรกรในประเทศ นมโรงเรียนเป็นส่วนสำคัญของตลาดนมไทย โดยสัดส่วนน้ำนมดิบที่เข้าสู่โครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนคิดเป็นร้อยละ40ของน้ำนมดิบที่ผลิตได้ทั้งหมดในประเทศไทย   นมโรงเรียนทั้งนมยูเอชทีและนมพาสเจอร์ไรส์มีเฉพาะรสจืดเท่านั้น ปัจจุบันเด็กระดับชั้นอนุบาล-ป.6 ทุกคนจะได้ดื่มนมโรงเรียนเทอมละ 100 วัน สำหรับวันมาโรงเรียน และอีก 30 วันสำหรับนำกลับไปดื่มที่บ้านในวันปิดเทอม
           ล่าสุดคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์ (มิลค์บอร์ด) รุกอุดช่องโหว่โครงการนมโรงเรียนโดยออกมาตรการเข้ม พร้อมมีมติตั้งชุดปฏิบัติการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพน้ำนมดิบ และระดมเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจตรวจสอบศูนย์รวมรวมน้ำนมดิบ-ที่ลงนามใน MOU ทั่วประเทศ 158 ศูนย์-โรงงานแปรรูปนม 79 รายแล้วเสร็จภายใน 7 วัน พร้อมเตรียมลงดาบผู้ประกอบการที่ละเมิดสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียนของผู้อื่น หากพบกระทำผิดอีก จะต้องถูกลงโทษตัดสิทธิการจำหน่ายเป็นเวลา 1 ปี
              นางจิราวรรณ   แย้มประยูร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์ (มิลค์บอร์ด)ได้มีมติเห็นชอบแผนการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนในระยะสั้น ตั้งแต่เดือนมิถุนายน –กันยายน 2557 ตามความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาและจัดทำแผนการบริหารจัดการโรงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน
            พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนระยะสั้นเร่งด่วน โดยให้จัดตั้งคณะทำงานหรือชุดปฏิบัติการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพน้ำนมดิบทั่วประเทศ  ซึ่งได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติการ มีเป้าหมายจะทำการสำรวจตรวจสอบศูนย์รวมรวมน้ำนมดิบตามที่ลงนามในMOU ทั่วประเทศ 158 ศูนย์ และโรงงานแปรรูปนมโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว 79 ราย ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ขณะที่พื้นที่ตรวจสอบที่อยู่ในจังหวัดและพื้นที่ติดต่อกัน จะตรวจภายในวันเดียวกัน เพื่อป้องกันการโยกย้ายถ่ายเทปริมาณน้ำนมดิบที่มีอยู่จริง โดยจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรงเกษตรฯ เพื่อดำเนินการตามแผนดังกล่าว
          ด้านนายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.)กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบของชุดปฏิบัติการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพน้ำนมดิบทั่วประเทศนั้น จะนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการนมทั้งระบบ และใช้ในการจัดสรรโควตานมโรงเรียนอย่างเป็นธรรมต่อไปได้ด้วย และที่ประชุมยังมีมติให้ติดตามและแก้ไขปัญหาการจำหน่ายนมโรงเรียนภาคเรียนที่ 1/2557  โดยให้คณะทำงานติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าว เชิญผู้ประกอบการที่ละเมิดสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียนของผู้อื่น และผู้ประกอบการที่ถูกละเมิดสิทธิในการจำหน่ายนมโรงเรียน มาหารือกัน เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ยืนยันกันทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกันให้หามาตรการและแนวทางในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิในการจำหน่ายนมโรงเรียนเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการโคนมแลผลิตภัณฑ์นมเห็นชอบต่อไป
           อย่างไรก็ตาม มิลค์บอร์ดได้มีมติหากยังมีผู้ประกอบการการละเมิดสิทธิผู้อื่นอีก หลังจากมีมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นมในครั้งนี้ จะตัดสิทธิไม่ให้เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียนเป็นเวลา 1 ซึ่งเป็นไปตามมาตรการลงโทษที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่องหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติโครงการอาหารเสริม (นม)โรงเรียน
            ทั้งหมดถือเป็นความรับผิดชอบอันท้าทายที่อ.ส.ค.จะต้องบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลนับจาก2ปีจากนี้ไป เพื่อให้โครงการนมโรงเรียนเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนไทยและเกษตรกรไทยจริงๆ

         

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


โพสเมื่อ : 24 ก.ค. 57   อ่าน 3362 ครั้ง      คำค้นหา :