ความคาดหมายต่อการปฏิรูปการศึกษา ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ



น่าจะเชื่อได้ว่าในช่วงระยะเวลาที่ผู้คนส่วนใหญ่ กำลังรอดูการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติอยู่  ผู้ที่สนใจและเห็นความสำคัญว่าการศึกษาคือหัวใจของการพัฒนาประเทศ ก็คงจะ ตั้งคำถามว่าท่านผู้รับผิดชอบในการปฏิรูปการศึกษานั้นจะมีเค้าโครง รูปแบบ หรือวิธีการอย่างไร? ภายใต้นโยบายและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างหรือเหมือนเดิมที่ผ่านมาหรือไม่? อย่างไร?

ถ้าเราเชื่อว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ เราก็ต้องยึดปรัชญาหรือหลักในการบริหารจัดการที่ว่า Education for All หรือการศึกษาเพื่อคนทุกคน ทุกเพศวัย ทุกสถานภาพทางสติปัญญา ร่างกาย และฐานะทางเศรษฐกิจ  ทั้งนี้เพราะทรัพยากรที่มีคุณค่าในการพัฒนาประเทศก็คือคนทุกคนที่มีความรู้ ความสามารถและมีความเป็นคนดี คือ “มีศักยภาพและมีภูมิคุ้มกัน” คือมีคุณภาพในเชิงวิชาการและมีสิ่งที่ป้องกันให้พ้นจากอบายมุขต่าง ๆ  ผู้ที่จะทำให้สิ่งดังกล่าวให้เป็นจริงได้ก็คือผู้ที่เป็นเจ้าของประเทศทุกคน ที่จะต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและหนุนเสริมให้การศึกษาไทยมี ประสิทธิภาพและสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของสังคมปัจจุบันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเราอาจจะเรียกกลับกันก็ได้ว่า “All for Education” หรือทุกคนช่วยกันดำเนินการและรับผิดชอบเรื่องการศึกษาของประเทศให้มีคุณภาพ สอดรับกับประชาคมอาเซียน ถึงแม้จะมีข้อมูลใหม่เอี่ยมจาก WEF. ว่าการศึกษาของเด็กไทยด้อยคุณภาพ เดินตามหลังประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม

เพราะฉะนั้น ในกระบวนการปฏิรูปจึงต้องปฏิรูปทั้งระบบโครงสร้างเพื่อการบริหารจัดการ และปฏิรูปบุคลากรในทิศทางที่กลับกันกับแบบเดิม นั่นคือจะต้องมีการกระจายอำนาจไปยังจังหวัดหรือท้องถิ่นเพื่อให้ทุกคนทั้งใน ระบบราชการและประชากรในท้องถิ่นรวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องให้มีส่วนรับผิด ชอบและตรวจสอบกัน เรื่องเก่า ๆ ที่ดีก็เก็บไว้ใช้ต่อ เช่น เรื่องความร่วมมือของบ้าน วัด และโรงเรียนในการดูแลและจัดการศึกษา หรือเรื่องการศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาส ส่วนเรื่องที่เป็นลบ เช่น เรื่องใช้งบประมาณใต้โต๊ะ ใช้อภิสิทธิ์ในการฝากเข้าโรงเรียนดัง เรื่องสอบบรรจุที่ไม่ถูกต้อง หรือเรื่อง รับจ้างทำการบ้าน ก็ต้องดำเนินการให้หมดไป

ส่วนการปฏิรูประบบบุคลากรและการปฏิรูปครูกับเด็กและเยาวชนก็ต้องดำเนิน การไปพร้อมกัน โดยจะต้องมีกลยุทธ์ที่ทำให้ครูมีความเป็น “ครูมืออาชีพ” มี “จิตวิญญาณของความเป็นครู” ไม่น้อยไปกว่าระดับความรู้ความสามารถหรือวิทย ฐานะที่จะต้องพัฒนาให้สูงยิ่งขึ้น นอกจากครูจะเป็นผู้ให้ความรู้แล้ว ครูยังต้องเป็น “ผู้เรียนรู้” สิ่งใหม่ ๆ ในยุคโลกาภิวัตน์ไปพร้อม ๆ กับลูกศิษย์ และลูกศิษย์ก็จะต้องรู้จักและเข้าใจในคุณค่าของตนเองและมีความรักความ ภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย มีความเข้าใจและทำตนเป็นพลเมืองดีมี “วัฒนธรรมประชาธิปไตย” ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ที่สำคัญคือจะต้องรู้จักและเข้าใจ “กระบวนการคิดเป็น” ในการเรียนรู้และการดำรงชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม อาจจะใช้กระบวนการคิดเป็นซึ่งเป็นที่ยอมรับของ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการผู้ล่วงลับไปแล้ว อาจจะใช้หลักการคิดเป็นโดยตรงด้วยวิธี โยนิโส มนสิการ ตามหลักพุทธธรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันเป็นสากล แม้แต่ Steve Jobs บุคคลสำคัญผู้สร้างระบบไอทีที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนโลกก็ใช้กระบวนการคิดเพื่อ พัฒนาปัญญา โดยหลักดังกล่าว

 เมื่อโครงสร้างดี ระบบดี และคนมีคุณภาพ การปฏิรูปการศึกษาก็ย่อมเป็นไปด้วยดี และจะต้องบรรลุเป้าหมายอย่างแน่นอน  ถ้ากระบวนการทุกอย่างที่กล่าวข้างต้นตั้งอยู่บนฐานความร่วมมือของทุกภาคส่วน และอยู่ในกรอบของคุณธรรม จริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต.

 

ประพีร์พรรณ ภาณวะวัฒน์

กรรมการบริหารชมรมข้าราชการและครูอาวุโสของกระทรวงศึกษาธิการ

 

 

ที่มา เดลินิวส์ วันพุธ 17 กันยายน 2557


โพสเมื่อ : 17 ก.ย. 57   อ่าน 1621 ครั้ง      คำค้นหา :