ปฏิบัติให้จริงมาตรการรถรับส่ง นร.




      

ปฏิบัติให้จริงมาตรการรถรับส่ง นร.

          กรณีเด็กอนุบาล 2 วัยเพียง 4 ขวบ ที่ จ.นครศรีธรรมราชถูกลืมทิ้งไว้ในรถรับส่งนักเรียนที่ดัดแปลงจากรถกระบะมาใช้งาน จนเสียชีวิตภายในรถเนื่องจากขาดอากาศหายใจและสภาพอากาศที่ร้อน หลังติดอยู่ภายในรถกว่า 5 ชั่วโมง กลายเป็นเรื่องเศร้าสลดใจที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และเกิดคำถามตามมาด้วยว่าเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น ทำไมความประมาทเลินเล่อเช่นนี้จึงไม่สามารถแก้ไขหรือป้องกันได้อย่างจริงจังเสียที พอมีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็เป็นข่าวดังแล้วบรรดาหน่วยงานเกี่ยวข้องก็กระตือรือร้นแก้ไขหรือวางมาตรการเข้มกันออกมา แต่สุดท้ายก็ยังมีเรื่องน่าเศร้าเกิดขึ้นอีกจนได้ สิ่งที่ต้องทบทวนคือมีฝ่ายใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับมาตรการความปลอดภัยในเรื่องนี้ และต้องใช้มาตรการหรือระเบียบที่วางไว้อย่างเข้มงวดจริงจังทำอย่างสม่ำเสมอ
          ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถโรงเรียน เช่น พระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ.2522 ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ.2536 และระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้ใช้รถในการรับจ้างรับส่งนักเรียน พ.ศ.2547 ซึ่งได้กำหนดรายละเอียดข้อปฏิบัติสำหรับผู้เกี่ยวข้องหลัก ได้แก่ ผู้ดำเนินกิจการรถโรงเรียน ซึ่งจะต้องรับผิดชอบในการควบคุมดูแลและเอาใจใส่เรื่องความปลอดภัยในการรับส่งนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหารถโรงเรียนที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และต้องขึ้นทะเบียนการจัดให้มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นภายในรถเพื่อช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีอุบัติเหตุ หรือมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น
          ส่วนผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และกำหนดหน้าที่ว่าต้องตรวจสอบจำนวนนักเรียนที่รับส่งแต่ละเที่ยวให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามรายชื่อนักเรียน พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อนักเรียนที่ใช้บริการตามแบบที่กำหนด ต้องประจำอยู่กับรถโรงเรียนตลอดเวลาเพื่อควบคุมดูแลและช่วยเหลือนักเรียนให้เกิดความปลอดภัยตลอดการเดินทาง รวมทั้งดูแลให้รถโรงเรียนรับนักเรียนจากที่อยู่อาศัยหรือสถานที่นัดหมายไปส่งมอบให้แก่โรงเรียน หรือส่งนักเรียนถึงที่อยู่อาศัยหรือส่งมอบแก่ผู้ปกครองโดยตรง เช่นเดียวกับผู้ขับรถนักเรียน ต้องไม่เป็นผู้มีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถและได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ และน่าจะจัดระเบียบรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ใช่ของโรงเรียนให้ขึ้นทะเบียนถูกต้องและสามารถตรวจสอบได้
          การวางมาตรการหรือระเบียบต่างๆ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะเพิ่มขั้นตอนและความยุ่งยากต่อการปฏิบัติมากขึ้นก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องกระทำด้วยคือต้องยึดและปฏิบัติสม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำเพียงช่วงแค่สั้นๆ จากนั้นก็ละเลยจนเป็นช่องโหว่ให้เกิดเหตุไม่คาดคิดซ้ำขึ้นได้ กรณีของเด็ก 4 ขวบที่ จ.นครศรีธรรมราช ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เคยเกิดลักษณะดังกล่าวหลายครั้งแล้ว เช่นกรณีน้อยเอย วัย 3 ขวบ ถูกลืมไว้บนรถตู้โรงเรียนอนุบาล จ.สมุทรปราการ จนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2556 หรือน้องพอตเตอร์ วัย 3 ขวบ ถูกขังลืมในรถปิกอัพรับส่งนักเรียนของโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งที่ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 เช่นกัน ดังนั้น ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องทำตามระเบียบอย่างจริงจังด้วยความรับผิดชอบถึงจะเป็นการปิดประตูไม่ให้เกิดเหตุเศร้าสลดขึ้นได้อีก

         

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


โพสเมื่อ : 24 ก.ค. 57   อ่าน 3496 ครั้ง      คำค้นหา :