เปิดชื่อเจ้าหนี้ แหล่งเงินกู้หลักของข้าราชการครู



ข้อมูลจากการสำรวจแหล่งเงินกู้ที่สำคัญในการเป็นหนี้สินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการประชุมกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครู วันที่ 3 มีนาคม 2558 ณ ห้องราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครู

ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครู วันที่ 3 มีนาคม 2558 ณ ห้องราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ 

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเร่งรัดการจัดทำโครงสร้างหนี้ของผู้มีรายได้น้อยเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบการอาชีพรับจ้าง ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยพิจารณาถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนการลดดอกเบี้ยและมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินสำรวจแหล่งเงินกู้ที่สำคัญในการเป็นหนี้สินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาพบว่า มีแหล่งเงินกู้ที่สำคัญของการเป็นหนี้ จำนวน 5แหล่ง คือ

1.สหกรณ์ออมทรัพย์ครู หนี้สินที่กู้ยืม จำนวน 663,152.64 ล้านบาท

2. สินเชื่อโครงการพัฒนาชีวิตครู จำนวนเงินกู้ 27,317.49 ล้านบาท

3. สินเชื่อ ช.พ.ค./ช.พ.ส. ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิภาพและสวัสดิการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จำนวนเงินกู้รวม 488,428.24 ล้านบาท

4. เงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู บริหารโครงการโดยสำนักงาน ก.ค.ศ. จำนวนเงินกู้รวม 829.68ล้านบาท และ

5.เป็นแหล่งเงินกู้ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เช่น บัตรเครดิต เงินกู้ธนวัฎ เงินกู้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เงินกู้จากสินค้าเงินผ่อน เงินกู้นอกระบบ เป็นต้น 

ทั้งนี้กลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อขอให้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่และมีความเดือดร้อนเป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิตและการเรียนการสอนทั้งหมด 3 กลุ่มใน 3 ประเด็นคือ

1. การรวมหนี้สินให้อยู่ในที่เดียว และหาเงินทุนให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

2.หยุดพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เช่นเดียวกับที่รัฐบาลเคยช่วยเกษตรกร

3. ตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการ และ

4. ตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างโปร่งใส

อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นว่าในเบื้องต้นควรพิจารณาช่วยเหลือกลุ่มที่อยู่ในขั้นวิกฤติก่อน โดยในระยะสั้นจะดำเนินการลดดอกเบี้ยและขยายระเวลาการกู้ ส่วนในระยะยาวจะมีการรวมหนี้ และล้างระบบใหม่ พร้อมทั้งดูแลครูที่บรรจุใหม่ไม่ให้มีหนี้สินมากขึ้น 

 

ที่มา เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ


โพสเมื่อ : 06 มี.ค. 58   อ่าน 1859 ครั้ง      คำค้นหา :