สพฐ.ผุดค่ายภาษาอังกฤษแบบเข้ม



"กมล" เผย เตรียมจัดค่ายภาษาอังกฤษติวเข้มเด็กอ่อน พร้อมผุดกรอบวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษของเด็ก ป.1-ม.6 เตรียมเข้าสู่อาเซียนในปี 58


วันนี้ (19 พ.ย.) ดร.กมล รอดคล้ายเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการเตรียมการพัฒนาการใช้ทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียน เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 โดย สพฐ.จะจัดกิจกรรมค่ายภาษาอังกฤษ ใน 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.ค่ายวิชาการภาษาอังกฤษแบบเข้ม เนื่องจากพบปัญหาว่านักเรียนบางส่วนโดยเฉพาะระดับประถมศึกษาไม่คุ้นเคยกับ ลักษณะคำถามและลักษณะข้อสอบของการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ตวิชาภาษาอังกฤษ ดังนั้น ค่ายนี้จึงเน้นเตรียมความพร้อมให้นักเรียนรู้จักลักษณะข้อสอบประเภทคำถามของ ข้อสอบ โอเน็ตวิชาภาษาอังกฤษ รวมทั้งจะมีการทบทวนความรู้ตลอดหลักสูตรที่นักเรียนเรียนมาด้วยโดยจะจัดใน เดือนธันวาคม 2557 นี้เบื้องต้นจะคัดเลือกนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์การสอบโอเน็ตต่ำมาเข้าค่าย นี้

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า 2 ค่ายภาษาอังกฤษแบบเข้มในช่วงปิดภาคเรียนเน้นให้นักเรียนมีทักษะสื่อสารภาษา อังกฤษ ซึ่งขณะนี้สพฐ.ได้จัดทำกรอบความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของนักเรียนตั้งแต่ ระดับป.1-ม.6 เรียบร้อยแล้วเพื่อให้โรงเรียนนำไปใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ของนักเรียนทั้งนี้กรอบดังกล่าวจะกำหนดไว้ชัดเจนว่าเมื่อเด็กจบในแต่ละชั้น ปีต้องมีทักษะอะไรบ้าง เช่นจบชั้นป. 1เด็กควรจะรู้คำศัพท์อะไรบ้าง รู้ความหมายกี่คำ สื่สารภาษาอังกฤษเป็นประโยคได้กี่ประโยคเป็นต้น ทั้งนี้ จะคัดเลือกนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลขาดโอกาสมาเข้าค่ายโดยกำหนดเป้าหมายไว้ จำนวน 1 แสนคน ทั้งนี้ การจัดค่ายทั้ง 2ลักษณะจะให้ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา หรือ ศูนย์เพียร์ (Peer)ที่กระจายอยู่ในอำเภอจำนวน881 ศูนย์ภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)และศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ หรือ ศูนย์อีริค (ERIC) ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.)เป็นผู้ดำเนินการ

“สพฐ.พัฒนากรอบดังกล่าว โดยอิงจากกรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษาอังกฤษของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรือ (Common European Framework of Reference for Languages : CEFR) ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ที่แม้แต่การสอบโทเฟล หรือการทดสอบมาตรฐานภาษาอังกฤษต่าง ๆ ก็นำมาอ้างอิง เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่าเราได้นำมาตรฐานระดับโลกมากำหนดมาตรฐานตัวนักเรียน ทำให้รู้ตัวว่าความสามารถของเด็กเมื่อเทียบกับสากลแล้วอยู่ระดับใด เป็นมาตรการรับประกันการจัดการศึกษาด้านภาษาอังกฤษของเด็กไทยก้าวสู่สากล ไม่ใช่กำหนดศัพท์ทั่วไปแบบที่ผ่านมาซึ่งเชื่อว่าหากเราเร่งพัฒนาเด็กตั้งแต่ ตอนนี้เมื่อเข้าสู่อาเซียนเด็กจะได้รับพัฒนาต่อยอดดีขึ้น”ดร.กมลกล่าว

 

 

 

ที่มา เดลินิวส์ วันพุธ 19 พฤศจิกายน 2557 เวลา 12:21 น.


โพสเมื่อ : 20 พ.ย. 57   อ่าน 1459 ครั้ง      คำค้นหา :