จำนวนนศ.ไม่ใช่ความสำเร็จของมหาลัย
จำนวนนศ.ไม่ใช่ความสำเร็จของมหา'ลัย
อธิการบดี ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ชี้จำนวนนักศึกษาไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จ
อัตราการมีงานทำคือสารัตถะที่แท้ของมหาวิทยาลัย แนะมหา'ลัยไทย
ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรตอบโจทย์ตลาดงานโลก
วันนี้(15ต.ค.) ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า
ขณะนี้ทิศทางของการจัดการศึกษาเปลี่ยนไป เดิมทีสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ
อาจวัดความสำเร็จกันที่จำนวนนักศึกษา หรือจำนวนบัณฑิต
ว่าใครมีนักศึกษามากกว่า ผลิตบัณฑิตได้มากกว่า
ก็ถือเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่กว่า นำไปสู่กลยุทธ์ต่างๆ ในการแย่งชิงตัวผู้เรียน
ซึ่งนับเป็นมายาคติที่ไม่ถูกต้อง
เพราะสารัตถะที่แท้จริงของการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา คือ
การมีงานทำของบัณฑิต
"การที่นักศึกษามาใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยถึง 4 ปี
เสียเงินให้แก่การศึกษาหลายแสนบาท และจบออกไปโดยไม่มีงานทำ
ถือเป็นความล้มเหลวของการจัดการศึกษา ดังนั้น
การที่สถาบันอุดมศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งมีนักศึกษาเป็นจำนวนมาก หรือ
ผลิตบัณฑิตได้จำนวนปีละมากๆ
ไม่ใช่สิ่งที่สามารถนำมาใช้อวดอ้างความสำเร็จได้อีกต่อไป
แต่ความสำเร็จที่แท้จริงของสถาบันอุดมศึกษา
คือการที่นักศึกษาจบออกไปแล้วมีงานทำ หรือสร้างงานได้ด้วยตนเอง
ไม่เช่นนั้นเวลาที่เสียไปและเงินทองที่จ่ายไปก็เท่ากับสูญเปล่า"
ผศ.ดร.ประโยชน์ กล่าว
อธิการบดี มรส. กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนักศึกษาในระดับปริญญาตรี
กว่า 2,000,000 คน มีบัณฑิตจบใหม่ปีละประมาณ 600,000 คน
ยิ่งสถาบันอุดมศึกษาผลิตบัณฑิตมากเท่าไหร่
ใบปริญญาก็ยิ่งล้นตลาดมากเท่านั้น
และการหางานทำของบัณฑิตใหม่ก็ยิ่งยากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้น
สิ่งที่มหาวิทยาลัยไทยต้องทำ คือ
ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของตลาดงาน
ไม่ว่าจะเป็นตลาดงานท้องถิ่น ตลาดงานในประเทศ ในภูมิภาคอาเซียน
ภูมิภาคเอเชีย หรือแม้แต่ตลาดโลก
เพื่อให้เกิดการจัดการศึกษาที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและตอบโจทย์ความต้องการ
ของตลาดงานอย่างแท้จริง.
ที่มา เดลินิวส์ วันพุธ 15 ตุลาคม 2557 |
โพสเมื่อ :
16 ต.ค. 57
อ่าน 1334 ครั้ง คำค้นหา :
|
|