หนุน สอศ.เปิด ปทส.แก้ขาด ’ครูอาชีวะ’
หนุน สอศ.เปิด ปทส.แก้ขาด 'ครูอาชีวะ'
ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากรณีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ขาดแคลนครูผู้สอนสายอาชีวศึกษาใน 9 ประเภทวิชา 86 สาขาวิชา จากทั้งหมด 192 สาขาวิชาล่าสุดคณะกรรมการคุรุสภามีมติให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการหาช่องทางพิเศษแก่ครูผู้สอนอาชีวศึกษาในสาขาขาดแคลน ขณะที่ สอศ.จะเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) รับผู้จบสายช่างจากระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นต้น (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มาเรียนต่อในสถาบันอาชีวศึกษาเพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้เป็นครูสอนในสถานศึกษาสังกัด สอศ.เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนครูอาชีวะอีกทางหนึ่งนั้น เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม นายมนตรี แย้มกสิกร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เปิดเผยว่า ส.ค.ศ.ท.กับ สอศ.มีความเข้าใจที่ตรงกันแล้ว คือ โดยหลักการเห็นตรงกันว่าผู้ที่จะมาเป็นครูอาจารย์ไม่ควรได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพโดยอัตโนมัติ ซึ่งสิ่งที่ สอศ.ต้องการคือ เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้จบสายครู เข้ามาสอบครูได้ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการพัฒนาวิชาชีพตามหลักเกณฑ์ที่คุรุสภา กำหนดเพื่อให้ได้ใบอนุญาตฯภายใน 2 ปี หรือหากไม่สามารถได้รับใบอนุญาตฯ ภายในระยะเวลากำหนด สามารถผ่อนผันคราวละ 2 ปีจนครบ 6 ปี ซึ่งตรงกับที่ ส.ค.ศ.ท.ต้องการ เพราะเราไม่ต้องการให้ครูได้ใบอนุญาตปฏิบัติการสอนชั่วคราว โดยที่ไม่มีการพัฒนาอะไรเลย เช่นเดียวกับกรณีของครูต่างชาติโรงเรียนเอกชนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) หรือครูปฏิบัติการสอนบนดอย โดยคณะกรรมการคุรุสภา มีมติไปนานแล้วที่จะอนุโลมให้ครูเหล่านั้น ได้ใบอนุญาตปฏิบัติการสอนชั่วคราว และระหว่างนั้นต้องพัฒนาวิชาชีพด้วยการเข้ารับการอบรมตามหลักเกณฑ์ที่คุรุสภากำหนด โดยให้ผ่อนผันคราวละ 2 ปี เป็นเวลารวม 6 ปี ซึ่งในส่วนของครู ตชด.และครูบนดอย มหาวิทยาลัยโดยคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เป็นผู้ช่วยอบรมให้ นายมนตรีกล่าว นายมนตรีกล่าวอีกว่า ปัญหาการขาดแคลนครูอาชีวะเป็นปัญหาวิกฤตมาก ตนเป็นผู้เสนอแนะ สอศ.ว่าในการเตรียมความพร้อมบัณฑิตครูที่จบหลักสูตรครู 5 ปี จากมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถสอนสายปฏิบัติในสถานศึกษาสังกัด สอศ.ได้นั้น นอกจากสถาบันผลิตครูที่ควรต้อง เตรียมความพร้อมให้กับเด็กแล้ว ในส่วนของหน่วยงานต้นสังกัดอย่าง สอศ.ควรต้องปรับพื้นฐานให้กับบัณฑิตครูเหล่านั้นด้วย เพื่อให้สามารถสอนวิชาปฏิบัติได้ เพราะตอนนี้เจอปัญหาว่าครูที่จบมหาวิทยาลัยไม่สามารถสอนวิชาปฏิบัติได้ ประธาน ส.ค.ศ.ท.กล่าวด้วยว่า เห็นด้วยที่ สอศ.จะพิจารณาเปิดหลักสูตร ปทส. เพื่อแก้ปัญหาครูสาขาขาดแคลนโดยเฉพาะการขาดครูสายปฏิบัติ ซึ่งกรณีนี้อาจต้องหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ด้วย เพราะเดิมเคยมีหลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี คือรับสายอนุปริญญา มาเรียนต่อมหาวิทยาลัย 2 ปีได้อย่างต่อเนื่อง แต่ต่อมา สกอ.กำหนดให้ต้องเทียบโอน ทำให้หลักสูตรต่อเนื่องดังกล่าวหายไป ดังนั้น อาจต้องหารือกับ สกอ.เพื่อขอให้ช่วยผ่อนผัน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูอาชีวะได้อีกทาง นายมนตรีกล่าวว่า ส่วนกรณีปัญหาครูโรงเรียนเอกชนลาออกไปสอบบรรจุครูผู้ช่วยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นอีกปัญหาที่น่าเห็นใจ เพราะเท่ากับว่าโรงเรียนเอกชนเป็นแค่สถานฝึกหัดครูให้กับ สพฐ. ฉะนั้น แนวทางแก้ไขปัญหา รัฐบาลควรต้องดูแลเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการตลอดจนความมั่นคงในอาชีพเพื่อจูงใจให้ครูเอกชนสอนโรงเรียนเอกชนต่อไป นายจอมพงศ์ มงคลวนิช นายกสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ คืนความสุขให้คนในชาติ โดยระบุว่า คสช.ขอความร่วมมือ สมศ.ให้ชะลอการประเมินคุณภาพภายนอกตามตัวบ่งชี้รอบที่ 4 ซึ่ง สมศ.เห็นด้วยและให้ทบทวนกระบวนการ มาตรฐานตัวชี้วัดการประเมินคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของการศึกษาไทยนั้น ว่า เป็นเรื่องดีที่ คสช.มีแนวนโยบายให้ สมศ.ชะลอการประเมิน และให้ สมศ.ทบทวน ซึ่งในส่วนของสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐและเอกชนอยากเรียกร้องให้ชะลอด้วย ไม่ใช่ชะลอแค่ระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ไม่เช่นนั้นถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะโดยหลักการ เกณฑ์และตัวชี้ที่ สมศ.กำหนดในรอบที่ 4 ไม่ได้สะท้อนคุณภาพแท้จริง อีกทั้งตัวบ่งชี้ควรต้องสอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายในเพื่อไม่ให้ทำงานซ้ำซ้อน ซึ่งเมื่อหลักการดังกล่าวกระทบต่อระดับอุดมศึกษา ถือว่ากระทบต่อระดับอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอาชีวศึกษา ดังนั้น ควรต้องชะลอทุกระดับพร้อมกัน เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้วที่ให้ชะลอ และให้ทบทวนตัวบ่งชี้เพื่อให้การศึกษาไทยมีคุณภาพและเดินหน้าต่อไปได้ จากนี้ สมศ.ควรทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากำหนดการได้มาซึ่งเกณฑ์และตัวชี้วัดร่วมกัน ทั้งครู อาจารย์ สถานศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียนนักศึกษา โดยเฉพาะคณะกรรมการ ที่จะมากำหนดเกณฑ์และตัวชี้วัดนั้น ควรต้องมี สอศ.และสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีฯ เข้าไปร่วมเป็นกรรมการด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การประเมินเป็นที่ยอมรับของทุกคนและสะท้อนคุณภาพการศึกษาที่แท้จริง นายจอมพงศ์กล่าว นายไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานคณะกรรมการคุรุสภา กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาครูอาชีวะขาดแคลนเพื่อศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาว่าได้กำหนดสัดส่วนของคณะกรรมการ ซึ่งจะมีผู้แทนจาก สอศ. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ส.ค.ศ.ท. คุรุสภา และ สกอ. คาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะทราบรายชื่อตัวแทนแต่ละฝ่าย และภายใน 1 เดือนคณะกรรมการชุดดังกล่าวน่าจะได้ข้อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวถึงกรณี สอศ.เตรียมเปิดหลักสูตร ปทส. เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูอาชีวะว่า สอศ.ต้องส่งรายละเอียดหลักสูตรให้ สกอ.พิจารณาคุณภาพของหลักสูตรว่าตรงตามหลักเกณฑ์และกฎหมายกำหนดหรือไม่ ส่วนกรณี คสช. ขอความร่วมมือให้ สมศ.ชะลอการประเมินคุณภาพภายนอกรอบที่ 4 นั้น เมื่อ คสช.ให้ชะลอ สมศ.ก็ไม่ควรดื้ออีกต่อไป ควรกลับไปทบทวนบทบาทหน้าที่ เกณฑ์และตัวชี้วัดให้ชัดเจน โดยเฉพาะบทบาทของ สมศ.ต้องเข้าใจมหาวิทยาลัยที่ถูกประเมินด้วย ไม่ใช่บอกว่าการประเมินแต่ละครั้งไม่ต้องบอกล่วงหน้า ตรงกันข้ามต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อให้การประเมินเดินต่อไปได้ นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่ คสช.สั่งชะลอการประเมินรอบที่ 4 เพราะเท่าที่ดูประชาคมในมหาวิทยาลัยต่างรู้ดีว่าการประเมินของ สมศ. กลายเป็นงานธุรการที่สร้างภาระให้กับคนในมหาวิทยาลัย โดยไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพในการจัดการศึกษา หรือคุณภาพของบัณฑิตเลย จึงควรหารือเพื่อหาระบบประเมินที่เหมาะสมในภาพรวม เพราะส่วนตัวยังเห็นว่าการประกันคุณภาพเป็นสิ่งจำเป็น แต่ควรจะเป็นระบบที่มีความยุติธรรม ไม่เพิ่มภาระ และสามารถสะท้อนคุณภาพมหาวิทยาลัยได้จริง ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายไท แสงเทียน อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ กล่าวว่า จากการประชุมสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อคัดเลือกบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ห้องประชุมชั้น 6 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ประชุมได้พิจารณาคัดเลือกจาก 3 คน ประกอบด้วย นางสาวนงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีคนปัจจุบัน นายอดุลย์ อภินันท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยอุบลฯ และนายสถาพร โภคา อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลฯ โดยคณะกรรมการสรรหาได้ส่งเรื่องมาให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้คัดเลือกผู้ที่เหมาะสม โดยมี ศ.พิเศษจอมจิน จันทรสกุล นายกสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นประธานการประชุม นายไทกล่าวว่า ได้มีหนังสือถึงนายกสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเพื่อขอคัดค้านกระบวนการสรรหาบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขาดความโปร่งใสเช่นตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดี พ.ศ.2533 และข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดีฉบับที่ 2 พ.ศ.2545 คณะกรรมการสรรหามิได้นำข้อเสนอจากแหล่งภายนอกตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาอธิการบดี (ฉบับที่ 2) มาพิจารณากำหนดคุณสมบัติผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งอธิการบดี เช่น คุณสมบัติทางด้านคุณธรรมจริยธรรม การมีประสบการณ์ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่การให้บริการของมหาวิทยาลัย รวมถึงกฎหมาย คำสั่งและระเบียบสำคัญต่างๆ เช่น ประมวลจริยธรรมของข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2553 คำสั่ง คสช.ที่ 69/2557 คำพิพากษาของศาลในคดีที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ และแบบตรวจสอบประวัติผู้ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้ง นายไทกล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีมิได้นำพาต่อข้อมูลสำคัญดังกล่าว การดำเนินการของกรรมการสรรหาจึงยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอที่สภามหาวิทยาลัยจะตัดสินใจกลั่นกรองรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป จึงขอให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการให้ครบถ้วนตามความในข้อบังคับเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มหาวิทยาลัย ในที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นต่างๆ มาพิจารณาแล้วจึงมีมติให้ส่งเรื่องกลับให้คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลฯไปดำเนินการให้เรียบร้อยและให้นัดประชุมสภากรรมการมหาวิทยาลัยอีกครั้งในวันที่ 30 สิงหาคมนี้
--มติชน ฉบับวันที่ 5 ส.ค. 2557 (กรอบบ่าย)-- |
โพสเมื่อ :
04 ส.ค. 57
อ่าน 1531 ครั้ง คำค้นหา :
|
|