แย้มผลประเมินโครงการผลิตครูเจอจุดอ่อน-จุดแข็งเพียบ



                                 

แย้มผลประเมินโครงการผลิตครูเจอจุดอ่อน-จุดแข็งเพียบ

          รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา(มบ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ได้มอบหมายให้ คณะศึกษาศาสตร์ มบ.ดำเนินการติดตาม ประเมินผลโครงการครูพันธุ์ใหม่ ครูมืออาชีพ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วเพื่อรับฟังข้อมูลสำหรับการทบทวนและปรับปรุงการดำเนินการกับโครงการนักเรียนทุนครูของรัฐบาลในอนาคต โดยคณะทำงานได้ลงพื้นที่จัดประชุมกลุ่มย่อยและจัดประชุมใหญ่ใน 4 ภูมิภาคเรียบร้อยแล้วพบว่า แต่ละโครงการหรือโครงการในแต่ละปีจะมีจุดอ่อนจุดแข็งแตกต่างกัน เช่น บางโครงการมีทุนให้มีการอบรมตลอดทั้งปีและประกันการมีงานทำ ขณะที่บางโครงการก็มีเฉพาะประกันการมีงานทำ และ บางโครงการก็ให้จับสลากเข้าโครงการ เป็นต้น  ส่วนประเด็นการให้ทุนนั้นพบว่า การให้ทุนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพราะ นิสิต นักศึกษาจะได้รับการฝึกอบรมและปลูกฝังความเป็นครูได้ อย่างชัดเจน
          รศ.ดร.มนตรี กล่าวต่อไปว่า จากการสัมมนาโรงเรียนที่รับนิสิต นักศึกษาครูเข้าฝึกปฏิบัติการสอน ได้รับเสียงสะท้อนจากครูพี่เลี้ยง ในโรงเรียนว่า กรณีของนิสิตนักศึกษาที่เรียนครู 5 ปี จะมีสิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือความเป็นครู ขณะที่หลักสูตรครู 4+1 คือ กลุ่มที่ไม่ได้ จบสายครูมาโดยตรงแต่มาเรียนวิชาครูเพิ่มอีก 1 ปี อย่างโครงการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางด้านคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ (สควค.) ก็มีจุดเด่นเรื่องวิชาการอย่างมาก แต่เรื่องความเป็นครูจะสู้กลุ่ม หลักสูตร 5 ปีไม่ได้ แต่ทั้งนี้ในระยะยาวกลับพบว่า บัณฑิตครู 5 ปี ส่วนใหญ่จะต้องการเรียนต่อในสายบริหารการศึกษา เพื่อเป็นผู้ บริหารการศึกษา ขณะที่กลุ่มหลักสูตร 4+1 มีความตั้งใจอยากเป็นครูมากกว่า
          สำหรับครูหลักสูตร 5 ปีที่เข้าไปสอนในสถานศึกษาอาชีวศึกษาก็พบปัญหาว่า ยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะคนที่จบสายสามัญเพราะครูกลุ่มนี้จะเก่งด้านทฤษฎีแต่อ่อนเรื่องการปฏิบัติ เพราะไม่รู้วัฒนธรรมของสายอาชีพและไม่มีพื้นฐานการปฏิบัติ ขณะที่กลุ่มที่จบสายอาชีพแล้วมาเรียนวิชาครูเมื่อกลับไปเป็นครูอาชีวะจะไม่มีปัญหาเรื่องการปฏิบัติ ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกประเด็นปัญหาที่จะต้องมีการหารือเพื่อการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูอาชีวศึกษาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ต่อไป รศ.ดร.มนตรี กล่าวและว่า
          นอกจากนี้ยังพบปัญหาการเตรียมความพร้อมของบัณฑิตครูเมื่อต้องออกไปทำงานจริงด้วยว่า มีจำนวนไม่น้อยที่เรียนวิชาเอกเดี่ยวหรือเอกคู่เมื่อไปสอนในโรงเรียนต้องสอนวิชาอื่นที่ไม่ใช่วิชาเอกที่เรียนมาด้วย เพราะปัจจุบันต้องสอนแบบบูรณาการจึงทำให้เป็นปัญหาอย่างมากสำหรับครูใหม่ เป็นต้น.

       

   --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 มิ.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--


โพสเมื่อ : 04 มิ.ย. 57   อ่าน 2014 ครั้ง      คำค้นหา :