![]() |
อย่าเป็นแค่ปัดสวะ เลาะเลียบคลองผดุงฯ
การอ่านออกเขียนได้ คือหัวใจสำคัญของการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน ตราบใดที่เด็กยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ไม่เพียงจะเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาตนเองได้ตามศักย ภาพที่ควรจะเป็นเท่านั้น การจะไปเรียนวิชาอื่นย่อมเป็นไปไม่ได้
เห็นเลขาธิการกพฐ.กรุณาให้ความหมายคำว่า "อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้" ของแต่ละระดับชั้นที่มีความแตกต่างกันแล้ว ต้องตั้งสติทำความเข้าใจอยู่นานพอสมควร ไม่ทราบว่าเป็นการเล่นคำหรือไม่ ที่บอกว่า
นักเรียนที่ศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 จะหมายถึง การอ่านออก/อ่านไม่ออก และเขียนได้/เขียนไม่ได้ นักเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จะใช้คำว่า อ่านคล่อง/อ่านไม่คล่อง และเขียนคล่อง/เขียนไม่คล่อง และสำหรับนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 จะเป็นการอ่านออก อ่านรู้เรื่อง แต่สรุปใจความไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา ต่างรับปากรับคำรมว.ศธ. จะทุ่มเททำให้นักเรียนอ่านออกเขียนได้ ภายใต้นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นใหม่ ดังนี้
ในระดับประถมศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะติดตามกระบวนการดำเนินงานของโรงเรียน ผู้ปกครอง ครู จะตรวจสอบวิเคราะห์ปัญหาตัวนักเรียนเป็นรายบุคคล จะเชิญผู้บริหารสถานศึกษาที่มีนวัตกรรมการเรียนการสอนที่ดีมาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ระดมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ในระดับมัธยมศึกษา จะมีการคัดกรองตั้งแต่วันปฐมนิเทศ หลังจากนั้นจะเป็นเรียนปรับพื้นฐาน เพื่อแยกนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ตามรายวิชา แล้วส่งไปถึงครูผู้สอนแต่ละรายวิชา และทำเป็นคลินิกหมอภาษา
จะมีการตรวจการอ่าน การเขียน แยกกลุ่มคัดกรองผู้ป่วย จัดทำทะเบียน นัดวัน เวลา เพื่อให้ฝึกอ่านและเขียนในเวลาที่ว่างจากการเรียน
ทั้งหมดนี้ คือ นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นใหม่เพื่อทำให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ฟังแล้วเคลิบเคลิ้มดูดี มีแต่คำว่าจะทำโน่นจะทำนี่กันมากมาย เมื่อถึงเวลาเข้าจริงๆ ภาวนาขออย่าเป็นแค่ปัดสวะให้พ้นหน้าบ้านเท่านั้น
|
โพสเมื่อ : 13 ก.พ. 58 อ่าน 1468 ครั้ง คำค้นหา : |