สพฐ. ผนึก มศว นำร่อง ห้องเรียนกลับทาง การเรียนรู้ในแบบกระบวนทัศน์ที่เหมาะกับศตวรรษที่ 21 ต้องมีการจัดการศึกษาในรูปแบบฐานแห่งเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นยุคที่ข้อมูลข่าวสารไม่ได้จำกัดอยู่เพียงรอบตัวเรา ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางสำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงมีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับทาง (Flipped Classroom) และการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (Independent Study) ด้วยการใช้เนื้อหาเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัล Discovery Education จากสหรัฐอเมริกา มาพัฒนาให้เกิดความรู้ความสามารถ และเปิดโลกทัศน์แก่ครูผู้สอนและนักเรียน ดร.พิเชฎษ์ จับจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ สำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กล่าวว่า โครงการนำร่องวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับทาง และการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง จัดขึ้นเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู และกระตุ้นให้เด็กไทยมีพัฒนาการรับรู้แบบบูรณาการ ทั้งฟัง คิด พูด อ่าน และเขียน สามารถเข้าถึงบทเรียนอย่างมีคุณภาพเท่าเทียมกับเยาวชนในประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงเป็นการเติมเต็มนโยบายของรัฐบาลในโครงการแท็บเลตพีซีเพื่อการศึกษาไทย ให้มีครบทั้งอุปกรณ์และเนื้อหาที่สมบูรณ์ วีรนันท์ คำนึงวุฒิ ดร.พิเชฎษ์ จับจิตต์ ธานี จันทร์นาง Discover Education เป็นดิจิทัลคอนเทนต์ทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ครอบคลุมหลายกลุ่มสาระวิชา อาทิ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งการที่จะเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เยาวชนควรมีกระบวนการเรียนรู้แบบบันได 5 ขั้น คือ ตั้งสมมติฐาน, วิเคราะห์ปัญหา, หาข้อสรุป, นำไปสื่อสาร และนำองค์ความรู้ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม ทาง สพฐ.จึงได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ในการทำโครงการดังกล่าว โดยเป็นโครงการนำร่องที่เปิดโอกาสให้ครู 200 คน และนักเรียน 10,000 คน จาก 100 โรงเรียนทั่วประเทศ ได้มี License เข้าถึงสื่อดิจิทัล Discover Education เป็นระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่ ก.พ. 2557 ซึ่งงบประมาณโดยรวมทั้งหมดของโครงการประมาณ 24 ล้านบาท ด้าน วีรนันท์ คำนึงวุฒิ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า บทบาทของ มศว ในโครงการนี้คือ การประสานงานกับ Discovery Education และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ครู สำหรับโครงการนำร่องนี้จะเริ่มจากครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก่อนนอกจากนี้ยังมีการติดตามผลครูที่ได้รับการอบรมโดยวิธีนิเทศติดตามและวิจัยผลการดำเนินงาน ตอนนี้โครงการอยู่ในช่วงการอบรมครู และทำการติดตามผลแบบนิเทศเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนจบโครงการ เพื่อจะได้ทราบว่าครูที่ได้ผ่านการอบรมไปแล้วสามารถสร้างแผนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นหรือไม่ นอกจากนั้นครูผู้ผ่านการอบรมสามารถส่งแผนการสอนเข้าประกวดผ่านระบบ Discovery Education เพื่อชิงรางวัลจาก สพฐ. ธานี จันทร์นาง อาจารย์ประจำโรงเรียนบ้านท่ากลอย จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ได้รับการฝึกอบรมเล่าว่า เป็นการอบรมที่เข้มข้นโดยวิทยากรของ Discovery Education ทำให้รู้จักเครื่องมือดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อมาทำการสอนให้เกิดประโยชน์มากขึ้น Flipped Classroom เป็นวิธีเรียนแนวใหม่ โดยเปลี่ยนรูปแบบนักเรียนเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ผ่านเทคโนโลยีที่ครูจัดหาให้ก่อนเข้าชั้นเรียน และมาทำกิจกรรมโดยมีครูคอยแนะนำในชั้นเรียนแทน โดยระบบ Discovery Educationเป็นสื่อการเรียนการสอนที่สามารถใช้ได้ผ่านทางคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ โดยรวบรวมหัวข้อการเรียนการสอนมากมาย ช่วยให้ครูมีสื่อการเรียนการสอนที่ดึงดูดความสนใจของเด็กนักเรียนมากขึ้น ประหยัดเวลาในการทำสื่อการเรียนการสอน รวมไปถึงสามารถมอบหมายงานให้นักเรียนผ่านระบบ และตรวจการบ้านให้คำแนะนำไปถึงผู้เรียนผ่านระบบได้ ที่มา: http://www.prachachat.net |
โพสเมื่อ : 20 ก.พ. 57 อ่าน 1548 ครั้ง คำค้นหา : |