ตอบคุณไพบูลย์ นิติตะวัน กรณี “การศึกษา ม.สงฆ์” ทำไมพระถึงต้องมีความรู้ทางโลกด้วย?



สุรพศ ทวีศักดิ์

สุรพศ ทวีศักดิ์
นักวิชาการด้านศาสนา




ก่อนที่จะมีการตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา” คุณไพบูลย์ นิติตะวัน ได้ให้เกียรติโทรมาหาผมบอกว่าอยากจะชวนร่วมงานปฏิรูปพุทธศาสนาด้วย แต่ผมได้บอกไปว่า “ผมไม่สะดวก” เหตุผลก็เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปภายใต้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ดังได้แสดงจุดยืนนี้ชัดเจนแล้วผ่านการเขียนบทความทางมติชนออนไลน์ (และที่อื่นๆ) ตั้งแต่ตอนแรกๆ ที่คณะกรรมการดังกล่าวแถลงเปิดตัวต่อสาธารณะ

หลังจากการเปิดตัวคณะกรรมการดังกล่าว คุณไพบูลย์ก็เป็น “ตัวหลัก” ในการแถลงประเด็นปัญหาต่างๆ ของคณะสงฆ์ต่อสื่อมวลชนเป็นระยะๆ ซึ่งก็เป็นที่วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ล่าสุดคุณไพบูลย์ได้วิจารณ์การศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ โดยเน้นไปที่ “มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.)” ของฝ่ายมหานิกาย แต่ไม่ทราบว่าทำไมไม่พูดถึง “มหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.)” ของฝ่ายธรรมยุต ทั้งที่ก็จัดการศึกษาในแบบเดียวกัน (ถ้าพูดถึงแต่ผม “ตกข่าว” ก็ต้องขออภัย)



แรกๆ ผมยังไม่ได้สนใจเท่าไร เพราะคิดว่าสิ่งที่คุณไพบูลย์พูดนั้น น่าจะเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เป็นข่าวสักพักคนก็คงลืมๆ กันไปเอง แต่วันนี้ (17 มิ.ย.) คุณไพบูลย์แถลงต่อสื่อมวลชนยืนยันความเห็นเดิมของตนเองว่าถูกต้อง และว่า “...ขอเรียกร้องให้ มส.เข้ามาตรวจสอบโดยเร็ว และหาก มส.ไม่ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด จะถือเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่” โดยอ้างว่า “(การศึกษาของ ม.สงฆ์) ขัดต่อคำสั่งของมหาเถรสมาคม (มส.) แห่งพ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่ระบุว่า ห้ามพระภิกษุสงฆ์ และสามเณร เรียนวิชาชีพอย่างคฤหัสถ์ในโรงเรียนหรือสถานที่ต่างๆ ปะปนกับชายหญิง ทั้งที่พระภิกษุสงฆ์ควรศึกษาเล่าเรียนเฉพาะพระธรรมวินัย และพระธรรมขั้นสูงเพียงเท่านั้น”

ผมเห็นว่าคุณไพบูลย์ไม่เพียงแต่วิจารณ์บนความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเท่านั้นหากยังใช้ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนั้นเดินต่อไปไกลมาก จึงอยากแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในทางสาธารณะ ต่อไปนี้

1. การห้ามพระเณรเรียนวิชาทางโลก เท่ากับเป็นการปิดหูปิดตาพระเณรจากการรับรู้และเข้าใจปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ ซึ่งล้วนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน เมื่อพระเณรไม่เข้าใจเรื่องทางโลก การประยุกต์คำสอนพุทธศาสนามาสอนประชาชนย่อมเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าเรียนคัมภีร์พุทธศาสนาอย่างเดียวที่มีเนื้อหา สำนวนภาษาแบบโบราณ ย่อมเป็นเรื่องยากมากที่คนในสมัยปัจจุบันจะทำความเข้าใจให้ชัดแจ้ง จึงมีความจำเป็นต้องใช้ความรู้สมัยใหม่ เช่นวิชาปรัชญา วิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่นๆ เป็น “เครื่องมือ” ในการวิเคราะห์ตีความคำสอนในคัมภีร์พุทธศาสนา ดังที่การศึกษาพุทธศาสนาระดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกเขาก็ทำกันเป็นปกติ

คุณไพบูลย์คงไม่รู้ว่า ในยุคกลางนั้น นักปรัชญาคริสต์เช่น โทมัส อไควนัสและท่านอื่นๆ ได้นำเอาทฤษฎีปรัชญาของเพลโตและอริสโตเติลมาตีความคำสอนคริสต์ศาสนา คือนำเอา “ปรัชญามารับใช้ศาสนา” มาอธิบายความคิดความเชื่อทางศาสนาให้มีเหตุมีผลเป็นที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น แรกๆ มีชาวคริสต์จำนวนไม่น้อยต่อต้าน แต่ต่อมาก็ให้การยอมรับ และนั่นจึงเป็นรากฐานให้คริสต์ศาสนาสามารถพัฒนาความคิด ความเชื่อให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ในช่วงหลังยุคกลางมาจนปัจจุบัน



การศึกษาพุทธศาสนาในบ้านเราต่างหากที่ยังทำแบบนั้นน้อยไปเพราะเราติดตำรา คัมภีร์ เรียนศาสนาแบบท่องจำมากเกินไป ตัวอย่างคนที่ใช้วิชาการทางโลก เช่นวิทยาศาสตร์และวิธีการทางปรัชญามาอธิบายคำสอนพุทธในบ้านเรา ก็เช่น รัชกาลที่ 4, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, พุทธทาสภิกขุ, พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)เป็นต้น แต่ยังถือว่าน้อยไป ควรส่งเสริมให้มากกว่านี้ สังคมเราจึงจะสามารถสร้างนักวิชาการพระ นักคิดทางพุทธศาสนาที่มีคุณภาพทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่งก็พยายามทำในระดับหนึ่ง และยังต้องพัฒนาต่อไป

2. ในแง่ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาไทย พระเณรเรียนทั้งทางธรรมทางโลกควบคู่กันมาตลอด เช่นมีบางยุคในสมัยอยุธยา คนที่จะเข้ารับราชการได้ต้องผ่านการบวชเรียนมาก่อน พระเณรก็เรียนทั้งวิชาช่าง แพทย์แผนโบราณ โหราศาสตร์ วิชาฟันดาบเป็นต้น และเป็นครูสอนวิชาเหล่านี้แก่ประชาชนที่สนใจฉะนั้น ในโลกสมัยใหม่ที่การใช้ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ ความรู้เรื่องเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย และอื่นๆ จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานในระบบสงฆ์ในโลกสมัยใหม่ จะห้ามพระเณรไม่ให้เรียนรู้เรื่องพวกนี้ได้อย่างไร

3. ในแง่หลักการของสังคมประชาธิปไตย พระเณรคือ “ประชาชน” ที่มีสิทธิทางการศึกษาอย่างเสมอภาคกับประชาชนทุกคน แต่ว่าก่อนจะมาบวชคนเหล่านี้ก็ไม่มีกำลังทรัพย์พอจะเข้าเรียนในระบบการศึกษาที่รัฐจัดให้ได้ เมื่อ ม.สงฆ์เปิดโอกาสไว้ ก็ถือว่าคณะสงฆ์ช่วยเหลือให้คนยากจนเหล่านี้ได้มีโอกาสทางการศึกษา เท่ากับว่าคณะสงฆ์ได้ช่วย “รับผิดชอบ” ให้การศึกษาแก่ประชาชนจำนวนหนึ่ง ในส่วนที่รัฐรับผิดชอบไม่ได้ หรือส่วนที่ตกหล่นจากความรับผิดชอบของรัฐ

ถ้าคุณไพบูลย์จะให้ ม.สงฆ์ยกเลิกการศึกษาวิชาการทางโลก คุณไพบูลย์ต้องมีคำตอบเชิงการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมอย่างน้อย 2 ข้อ คือ (1) รับประกันได้หรือไม่ว่ารัฐไทยจะรับผิดชอบการศึกษาของคนจน คนระดับล่างได้อย่างทั่วถึง หากทำได้จริงก็ย่อมจะไม่มีลูกคนจนมาแสวงหาโอกาสทางการศึกษาจากวัดอีกและ (2) หากไม่ให้พระเณรเรียนทางโลก คุณไพบูลย์มีหลักประกันอะไรว่าการเรียนทางธรรมอย่างเดียว เราจะได้พระสงฆ์ที่สอนธรรมะ เขียนหนังสือธรรมะ และทำกิจกรรมเผยแผ่ธรรมในลักษณะอื่นๆ ที่สามารถสื่อสารกับคนร่วมสมัยได้รู้เรื่องและมีประสิทธิภาพ

สุดท้าย เนื่องจากคุณไพบูลย์ได้อ้าง “คำสั่ง มส.” มาเรียกร้องให้ตรวจสอบการศึกษาของ ม.สงฆ์ ก็แปลว่าคำสั่งของ มส.เองเกี่ยวกับการศึกษาของพระเณรก็ยังมีปัญหา ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ที่พระเณรไทยเรียนทั้งทางโลกทางธรรมคู่กันมาตลอด และไม่สอดคล้องกับบริบทการศึกษาของโลกสมัยใหม่ คณะสงฆ์เองก็จำเป็นต้อง “ปรับทัศนคติ” ของตัวเองในเรื่องการศึกษาให้ถูกต้องและสอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ด้วยเชนกัน

ทั้งหมดนี้ผมขอพูดเฉพาะประเด็นการศึกษาของ ม.สงฆ์ ส่วนเรื่องปฏิรูปพุทธศาสนานั้น ผมเห็นว่าในเมื่อข้อเสนอเรื่องปฏิรูปพุทธศาสนามีหลากหลาย เราก็ควรจะให้โอกาสแก่ทุกข้อเสนอได้เข้าสู่กระบวนการอภิปราย ถกเถียง และขับเคลื่อนภายใต้กติกาที่ “free and fair” ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อต้องยืนยันการปฏิรูปภายใต้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น


โพสเมื่อ : 19 มิ.ย. 58   อ่าน 2078 ครั้ง      คำค้นหา :