![]() |
สอนปริญญาตรีไม่ต้องมีตั๋วครู/เล็งออก กม.ขอตำแหน่ง "ผศ.-ศ."สายช่าง นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติอนุมัติให้กำหนดกรอบอัตรากำลัง ในสถาบันการอาชีวศึกษา ระยะเริ่มแรกของการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) เสนอ ใน 2 กลุ่ม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ครูสายอาชีวศึกษาไม่จำเป็นจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู โดยกลุ่มแรกได้อนุมัติกรอบอัตรากำลังคณาจารย์ในสถาบันการอาชีวศึกษา ระยะที่ 1 ที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรีแล้ว จำนวน 18 แห่ง โดยกำหนดกรอบอัตรากำลังให้ประเภทวิชาละ 5 อัตรา รวม 190 อัตรา อาทิ ประเภทวิชาอุตสาหกรรม เกษตรกรรม บริหารธุรกิจ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ศิลปกรรม คหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งกรอบอัตรากำลังกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพราะเป็นการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา เลขาธิการ กกอ.กล่าวต่อไปว่า กลุ่มที่ 2 กรอบอัตรากำลังบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค (2) ในสถาบันการอาชีวศึกษา ระยะที่ 1 จำนวน 19 แห่ง แห่งละ 14 อัตรา รวม 266 อัตรา ซึ่งเป็นตำแหน่งในสำนักงาน ผู้อำนวยการสถาบัน สำนักพัฒนายุทธศาสตร์และความร่วมมืออาชีวศึกษา สำนักพัฒนากิจการนักศึกษาและกิจการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา อาชีวศึกษาบัณฑิต อาทิ ตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไป หรือเจ้าพนักงานธุรการ นิติกร นักวิชาการเงินและบัญชี หรือเข้าพนักงานการเงินและบัญชี นักวิชาการศึกษา นักวิเคราะห์นโยบายและแผน เป็นต้น ซึ่งกรอบอัตรานี้ จะต้องไม่เป็นการเพิ่มอัตราข้าราชการใหม่ในภาพรวม และไม่ขัดหรือแย้งกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมาตรการบริหารและพัฒนากำลังคนภาครัฐ (พ.ศ.2557-2561) "หลังจากที่ ก.ค.ศ.อนุมัติกรอบอัตรากำลังแล้ว สอศ.จะต้องไปเกลี่ยอัตรากำลัง เพื่อกำหนดตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามาตรา 38 ค(2) และตำแหน่งคณาจารย์ในสถาบันการอาชีวศึกษา เพื่อนำตำแหน่งมาเกลี่ยกันเอง ไม่ใช่ได้ตำแหน่งเพิ่ม เช่น กรณีที่เป็นข้าราชการในตำแหน่งที่กำหนดกรอบใหม่ หากจะไปอยู่ก็ตัดโอนตำแหน่งตามตัวไปเลย หรือกรณีที่เป็นอาจารย์ จะเปลี่ยนสถานะจากข้าราชการครูมาเป็นอาจารย์ ก็ขึ้นกับผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา และต่อไปจะออกกฎหมายเพื่อให้สามารถขอตำแหน่งทางวิชาการ เช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) หรือศาสตราจารย์ (ศ.) ได้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นมิติใหม่ของอาชีวศึกษา และต่อไปคนที่จะมาสอนสายอาชีวะไม่จำเป็นต้องจบสายครูมาก็สอนได้" นายชัยพฤกษ์ กล่าว
ที่มา สยามรัฐ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 |
โพสเมื่อ : 03 พ.ย. 57 อ่าน 1559 ครั้ง คำค้นหา : |