![]() |
ความไม่เท่าเทียมเลาะเลียบคลองผดุงฯ
แม้กระทั่งการจัดสรรงบประมาณและการกระจายครูอาจารย์สู่สถานศึกษาต่างๆ ของรัฐ ยังไม่เป็นธรรม มักจะเอื้อต่อโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองมากกว่าขนาดเล็กในชนบท ทำให้แตกต่างกันในคุณภาพ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังมีความพยายามทุกทางที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กอีกด้วยซ้ำ
ในการประชุมวิชาการการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ระดับชาติครั้งที่ 3 ล่าสุด ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล เสียงจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธ.ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) พูดถึง "พลเมืองเด็ก : การลงทุนที่คุ้มค่า" น่าสนใจ ยิ่งที่พบว่า
เด็กไทยร้อยละ 40 เข้าข่ายมีพัฒนาการล่าช้า การศึกษาต้องรีบหนุนก่อนเข้าสู่วงจรชั่วร้าย ในจำนวนนี้พบในกลุ่มผู้ป่วยเด็กโรค ธาลัสซีเมีย เด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำมาก เด็กติดเชื้อ HIV อีกด้วย แถมยังมีกลุ่มเด็กที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านสังคมอาทิ เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ และเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่น มีแนวโน้ม ถึงทักษะควบคุมบังคับใจตนเองต่ำ หากไม่ได้รับการศึกษาที่ดี เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่ำ เสี่ยงต่อการติดยา แล้วในที่สุดลูกที่เกิดมาจะวนกลับเข้าสู่วงจรชั่วร้าย
คุณหมอวิจารณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา ยกตัวอย่างหัวใจความสำเร็จในการจัดการศึกษาภาคบังคับประเทศฟินแลนด์ ว่า คือการไม่คัดแยกเด็กเก่งและเด็กอ่อน ใส่ใจเด็กเก่งแล้วไม่เคยมองข้ามเด็กอ่อน
หัวใจนี้ครอบคลุมถึงโรงเรียนทุกแห่งทุกพื้นที่ห่างไกล ภายใต้มาตรฐานการศึกษาเท่าเทียมกัน มีภาคพลเมืองร่วมตรวจสอบทุกวันหลังการสอน ครูและผู้บริหารโรงเรียนจะประชุมร่วมกัน เพื่อสังเกตติดตามพัฒนาการของลูกศิษย์เป็นรายชั้นและรายบุคคล เพื่อหาวิธีการสนับสนุนหรือช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
เด็กประมาณร้อยละ 70 ผ่านระบบความช่วยเหลือ ในที่สุด ทุกคนสามารถกลับเข้าชั้นเรียน และบรรลุผลสำเร็จทางการศึกษาได้เหมือนๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ประเทศไทยคิดยกเครื่องการศึกษา โครงสร้างยังเป็นหัวใจเหนือความไม่เท่าเทียมกันในภาคการศึกษา
ที่มา ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558 |
โพสเมื่อ : 30 ม.ค. 58 อ่าน 1319 ครั้ง คำค้นหา : |