แนะอัปเกรดค่ายลูกเสือเป็นแหล่งท่องเที่ยว-แหล่งเรียนรู้การศึกษาเด็ก



ศธ.แนะสำนักลูกเสือ หารือเอกชนพัฒนาที่ดินค่ายลูกเสือที่มีอยู่ 200 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นค่ายชั้นดี ชงไอเดียปรับเป็นแหล่งท่องเที่ยวในตัว หวังหารายได้เข้ากิจการลูกเสือ ลดการพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ พร้อมให้ ปลัด ศธ.ตั้งคณะทำงานศึกษาปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงานลูกเสือ หากพบติดขัดที่กฎหมายก็อาจต้องแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อกาารบริหารกิจการลูกเสือ

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้หารือร่วมกับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงบริหารงานของกิจการลูกเสือแห่งชาติซึ่งบริหาร จัดการภาย ใต้คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติที่มี รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนกิจการลูกเสือไทยมาเป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ เนื่องจาก รมว.ศึกษาธิการ เห็นว่า กิจการลูกเสือไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี เช่น การสร้างจิตอาสา ฝึกความเป็นระเบียบวินัย เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ตนไปตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาภาพรวมการทำงานของลูก เสือทั้งหมดดูว่าที่ผ่านมามีปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินการใดบ้าง และจำเป็นต้องปรับแก้ พ.ร.บ.ลูกเสือแห่งขาติ พ.ศ.2551 อย่างไรเพื่อให้การบริหารงานกิจการลูกเสือมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ประเด็นหนึ่งซึ่งที่ประชุมให้ความสนใจ คือ การพัฒนาค่ายลูกเสือที่มีอยู่ 200 กว่าแห่งทั่วประเทศ ที่ดินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินราชการที่รัชกาลที่ 6 ยกให้กับลูกเสือไทย ส่วนใหญ่จะถูกทิ้งร้างหรือไม่ได้รับการดูแล ทั้ง ๆ ที่ค่ายลูกเสือบางแห่งอยู่ในทำเลที่ดีมาก เช่น ค่ายลูกเสือ จ.ตรัง เป็นที่ดินยาว 3 กิโลเมตรเลียบชายทะเล สามารถนำมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อกิจการลูกเสือและหารายได้เข้า กิจการลูกเสือได้ ช่วยให้กิจการลูกเสือมีเงินพอเพียงในการบริหารจัดการโดยไม่ต้องพึ่งพางบของ รัฐบาล อย่างไรก็ตาม ศธ.เองไม่มีกำลังเพียงพอจะพัฒนาที่ดินเหล่านี้โดยลำพังต้องดึงภาคเอกชนมา ช่วย ซึ่งสามารถทำได้เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้ ดังนั้นที่ประชุมจึงให้ไปศึกษาเรื่องนี้มา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาค่ายลูกเสือต่างๆ ขึ้นมาเป็นสถานที่เข้าค่ายของลูกเสือ รวมถึงอาจปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งเรียนรู้ทางการศึกษาของเด็กไปในตัวด้วย”ปลัด ศธ. กล่าวและว่า รมว.ศึกษาธิการ ยังอยากให้การบริหารงานของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ มีแผนการบริหารจัดการที่ชัดเจนเพราะปัจจุบันเหมือนหน่วยงานในกำกับ ศธ.มีรองปลัด ศธ.คอยดูแล จึงอยากให้ผู้บริหารสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นลักษณะซีอีโอ นั่งทำงานเต็มเวลาและให้ได้มาจากการสรรหา มีการทำสัญญาจ้างโดยระบุแผนการทำงานและเป้าหมายชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้การบริหารสำนักงานลูกเสือเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น กลไกลูกเสือจะขับเคลื่อนได้ต้องเกิดจากการบริหารงานประสิทธิภาพด้วย

 

 

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 13 ตุลาคม 2557


โพสเมื่อ : 13 ต.ค. 57   อ่าน 1301 ครั้ง      คำค้นหา :