หวั่นการเมืองปฏิรูปการศึกษาไม่จริง



“สมพงษ์”หวั่นการเมืองปฏิรูปการศึกษาไม่ จริง แนะร่างรัฐธรรมนูญให้นักการเมือง-ผู้บริหารรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษา เชื่อการศึกษาช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในชาติได้


วันนี้ (11 พ.ย.) รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรมว.ศึกษาธิการ เห็นตรงกันที่จะปฏิรูปการศึกษาทั้งโครงสร้าง ระบบบริหารจัดการ และกระบวนการเรียนรู้พร้อมกันนั้น เป็นสิ่งที่ตนเห็นด้วย เพราะโครงสร้าง และระบบบริหารในปัจจุบันของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นการรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งมีทั้งอำนาจและงบประมาณ เมื่อฝ่ายการเมืองสั่งการอะไร ฝ่ายข้าราชการก็ต้องสนองตอบ เพื่อรักษาเก้าอี้ ซึ่งเรียกว่าวัฒนธรรมย้วย จึงเป็นช่องโหว่ของการทุจริตงบฯ เห็นได้จาก การจัดซื้อสนามฟุตซอล และ โครงการแจกแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนที่ล้มเหลว ซึ่งสุดท้ายผู้ที่รับผิดชอบคือข้าราชการระดับล่าง ส่วนข้าราชการระดับสูง และนักการเมืองไม่มีใครต้องรับผิดชอบ ตนจึงเป็นห่วงว่าจะทำให้ฝ่ายการเมืองไม่ปฏิรูปโครงสร้างและระบบริหารอย่าง แท้จริง

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาการเมือง และความขัดแย้งในชาติ ซึ่งผมมองว่าการปฏิรูปการศึกษาจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ดังนั้นจึงควรมีข้อกำหนดที่เป็นคำสำคัญในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้นำมาสู่การปฏิบัติที่ได้ผลจริง เช่น การสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การศึกษาให้เปล่าที่มีคุณภาพ การรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ต้องมีการกำหนดไว้ในกฎหมายลูกด้วย เช่น พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยเฉพาะเรื่องความรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษา เพื่อให้ รมว.ศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูง และผู้บริหารสถานศึกษา รับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาหากล้มเหลว.

 

 


  • ที่มา เดลินิวส์​ วันอังคาร 11 พฤศจิกายน 2557 เวลา 16:34 น.

โพสเมื่อ : 12 พ.ย. 57   อ่าน 1401 ครั้ง      คำค้นหา :