อนุรักษ์ตัวอักษรไทยน้อยรากเหง้าทางภาษาของคนอีสานปัจจุบัน




      
ม.ขอนแก่น อนุรักษ์ตัวอักษรไทยน้อยรากเหง้าทางภาษาของคนอีสานปัจจุบัน


          รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร เปิดเผยว่า ขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ 1 ใน 400 ของโลก ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องรู้จักตนเองให้มากที่สุด สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการเริ่มเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภาคอีสาน หรืออาณาจักรล้านช้างในสมัยก่อน เพราะมหาวิทยาลัยขอนแก่นเปรียบเสมือนขุมปัญญาของภาคอีสาน ดังนั้นศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน หลายอย่างจึงควรค่าแก่การอนุรักษ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างเช่น การจัดทำโครงการอนุรักษ์ ตัวอักษรไทยน้อย ซึ่งเป็นตัวอักษรของไทยโบราณตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรที่มีอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่เป็นรากเหง้าของ คนอีสาน ตัวอักษรไทยน้อยมีรูปร่างคล้ายอักษรไทย แต่แตกต่างออกไปจากอักษรไทยบ้าง โดยอักษรชนิดนี้ ชาวอีสานจะใช้บันทึกเรื่องราวทั่วไป ได้แก่ วรรณกรรม และเรื่องราวทางโลก ซึ่งปรากฏอยู่ในจารึกต่างๆ ในฐานะ ขุมปัญญาของอีสาน ดังนั้นศิลปะและวัฒนธรรมอีสานหลายอย่างจึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ถึงแม้ปัจจุบันคนไทยจะใช้ภาษากลาง เป็นภาษาประจำชาติ แต่ภาษาอีสานที่มีรากเหง้ามาจากภาษาไทยน้อย และตัวอักษรไทยน้อย ควรอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลัง ได้เรียนรู้ต่อไปอย่างภาคภูมิใจเช่นเดียวกัน
          รศ.ดร.นิยม กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้อนุรักษ์ตัวอักษรไทยน้อย โดยมีการเพิ่มตัวอักษรไทยน้อย คำว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ป้ายคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่มีอักษรไทยน้อยมานานแล้ว สำหรับสิ่งที่จะผลักดันต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม 2 เรื่อง คือ เรื่องแรกเป็นการสร้าง ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาไทยน้อย ด้วยหลักสูตร การเรียนการสอนของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว และการประชาสัมพันธ์ โดยฝ่าย ศิลปวัฒนธรรม ที่จะนำเอาตัวอักษรไทยน้อย หรือตัวอักษรธรรม ไปขึ้นไว้บนเว็บไซต์หรือสื่อต่างๆ รวมทั้งจะเปิดให้การอบรมเชิงปฏิบัติการของ คณะศิลปกรรมศาสตร์ หลักสูตรวิจัยศิลปวัฒนธรรม ที่จะไปสอนการเขียนภาษาไทยน้อยให้กับเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านต่างๆ และนักศึกษาที่สนใจสามารถศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในคณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ฟรี เรื่องที่สองเป็นการสนับสนุนคณะหน่วยงานต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ให้เพิ่มตัวอักษรไทยน้อยบนป้ายคณะหน่วยงาน ด้วยการออกแบบให้อย่างเหมาะสมกับป้ายและตัวอักษรเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยนักออกแบบที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ

        
  ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า


โพสเมื่อ : 13 ก.พ. 57   อ่าน 1503 ครั้ง      คำค้นหา :