’จาตุรนต์’ หนุนข้อสอบอัตนัย พบป.ตรีอาชีวะเกียรตินิยมอื้อ




      
'จาตุรนต์' หนุนข้อสอบอัตนัย พบป.ตรีอาชีวะเกียรตินิยมอื้อ


          'ชัยพฤกษ์'นำทีมบอร์ด กอศ.ตรวจสถาบันอาชีวะ อึ้ง! น.ศ.ป.ตรีรุ่นแรกจำนวน 1 ใน 5 ได้คะแนนระดับเกียรตินิยม พบในสาขา'บัญชี-การตลาด-เทคโนฯยานยนต์'มากสุด
          เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีนายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จะเสนอต่อคณะกรรมการ กพฐ.พิจารณาหนังสือพิมพ์มติชนรายวันปรับรูปแบบการสอบเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ โดยเพิ่มการสอบข้อเขียนหรืออัตนัยให้มากขึ้นว่า เบื้องต้นยังไม่ได้หารือเรื่อง ดังกล่าว แต่เท่าที่ดูข้อเสนอของนายอภิชาติมีความสอดคล้องกับนโยบายการปรับการทดสอบการวัดผลของ ศธ.ที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ และเชื่อมโยงกับการยกระดับคะแนนการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ซึ่งโดยทิศทางจะเน้นออกข้อสอบให้เด็กได้เขียนมากขึ้น เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ ส่วนโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง มีเด็กสมัครสอบคัดเลือกจำนวนมาก จะเกิดปัญหาหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของโรงเรียน เพราะเท่าที่ดูโรงเรียนอัตราการแข่งขันสูงและมีเด็กสมัครมากในทั่วประเทศก็มีจำนวนไม่มากเหมือนสมัยก่อน อย่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งทางโรงเรียนก็ต้องใช้ศักยภาพที่มีในการแก้ปัญหาการจัดสอบ ส่วนโรงเรียนอื่นๆ ก็ไม่น่ามีปัญหา
          เมื่อสมัยก่อนโรงเรียนอัตราการแข่งขันสูง จะมีจำนวนเด็กสมัครมากกว่าจำนวนรับจริงถึง 10 เท่า แต่ปัจจุบันไม่เกิน 2 เท่า ดังนั้น หากโรงเรียนนำข้อสอบอัตนัยมาใช้ก็น่าทำได้ ส่วนหากจะมีการให้คะแนนช่วยเหลือกันนั้น สพฐ.คงต้องหาโรงเรียนนำข้อสอบอัตนัยมาใช้ก็น่าทำได้ ส่วนหากจะมีการให้คะแนนช่วยเหลือกันนั้น สพฐ.คงต้องหามาตรการป้องกัน เพราะอนาคตจะต้องยกระดับเรื่องการวัดผล ให้การจัดสอบมีความน่าเชื่อถือ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กล่าว และว่า ต่อไปต้องพัฒนาระบบการสอบมาเป็นข้อเขียนให้มากขึ้น เพราะประเทศที่สำเร็จในการจัดการศึกษาส่วนใหญ่จะให้เด็กสอบข้อเขียน ซึ่งองค์กรระดับโลกที่จัดสอบข้อเขียนเป็นแสนๆ คน ยังสามารถทำได้ ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นเรื่องยาก
          วันเดียวกัน ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการใน กอศ. ประมาณ 10 คน ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือปฏิบัติการของกลุ่มสถาบันฯภาคเหนือ 1 และ 2 ทั้งนี้ นายชัยพฤกษ์กล่าวว่า จากการรับฟังผลการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีของสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 1 และ 2 ทั้งในส่วนที่จัดการศึกษาไปในปีการศึกษา 2556 และที่กำลังจะเปิดสอนในภาคเรียนที่ 1/2557 พบว่าสถาบันฯ ติดตามสถานประกอบการที่ร่วมจัดการสอนแบบทวิภาคี ให้ความสำคัญในเรื่องงานวิชาการมากในการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะการฝึกวิชาชีพในสถานประกอบการที่จะเริ่มในภาคเรียนใหม่ ยังมีหลายจุดที่ต้องทบทวนเพื่อปรับให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง อาทิ วิชาคอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบ ที่กำหนดให้นักศึกษาไปเรียนระหว่างการฝึกวิชาชีพในสถานประกอบการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยาก อีกทั้งการฝึกวิชาชีพในสถานประกอบการควรฝึกได้จริง ต้องไม่ใช่แค่เอานักศึกษาไปอยู่กับสถานประกอบการ อาจารย์กับสถานประกอบการต้องมีระบบร่วมกันพัฒนาเด็ก ไม่ใช่แค่ไปนิเทศการฝึกงาน เท่านั้น
          นอกจากนี้ยังมีการสะท้อนถึงคุณภาพของ ผู้สอน ทั้งอาจารย์ในสถาบันฯที่มีวุฒิการศึกษาไม่ตรงตามสาขาที่สอนตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และครูฝึกในสถานประกอบการ ที่แม้จะเชี่ยวชาญในวิชาชีพ แต่ยังขาดการทำงานวิชาการ แผนการสอน การประเมินผล และจิตวิทยาการสอน ดังนั้นต้องจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน 2 เรื่อง  ได้แก่ 1.การทำแผนการเรียนรู้จากหลักสูตรสู่การเรียนการสอนให้เป็นรูปธรรม และ 2.การประเมินผลการเรียน จะต้องถูกต้องและเป็นไปตามหลักวิชา นายชัยพฤกษ์กล่าว
          เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า ขณะนี้ตนได้รับรายงานผลการเรียนเฉลี่ยในภาคเรียนที่ 1/2556 ของนักศึกษาจากสถาบันการอาชีวศึกษา 8 สถาบัน 38 วิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติงาน ได้แก่ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 1, ภาคใต้ 1, ภาคใต้ 2, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3, ภาคเหนือ 3, ภาคเหนือ 2, ภาคเหนือ 1, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 และกรุงเทพมหานคร ซึ่งผลการเรียนเฉลี่ยในภาพรวมพบว่า จากข้อมูลนักศึกษา 522 คน มีนักศึกษาที่มีผลการเรียนระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเกรดเฉลี่ย 3.75 ขึ้นไป จำนวน 105 คน หรือร้อยละ 20.11 ผลการเรียนระดับเกียรตินิยมเกรดเฉลี่ย 3.5 ขึ้นไปถึง 3.74 จำนวน 63 คน คิดเป็นร้อยละ 12.07 และมีเกรดเฉลี่ยตั้งแต่ 3.5 ลงมาจำนวน 354 คน หรือร้อยละ 67.82
          เลขาธิการ กอศ.กล่าวด้วยว่า เมื่อดูภาพรวมแล้วการประเมินผลการเรียนของแต่ละสถาบันยังมีความแตกต่างกัน แม้จะเป็นสาขาวิชาเดียวกันและจัดการเรียนไม่แตกต่างกัน เช่น สาขาเทคโนโลยียานยนต์ที่สถาบันฯแห่งหนึ่งนักศึกษาได้เกรดเฉลี่ย 3.75 ขึ้นไป 100% แต่อีกสถาบันฯแทบไม่ใครได้เกรดเฉลี่ย 3.75 เลย ซึ่งน่าจะเป็นเพราะความเข้าใจของสถาบันฯและอาจารย์แต่ละแห่งในการประเมินผลการเรียน ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกันต่อไป


        

  --มติชน ฉบับวันที่ 2 เม.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--


โพสเมื่อ : 01 เม.ย. 57   อ่าน 2379 ครั้ง      คำค้นหา :