มธ.ใช้ ’มายแคท’ ตรวจวิทยานิพนธ์
มธ.ใช้ 'มายแคท' ตรวจวิทยานิพนธ์
นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ปัจจุบันนิด้าใช้โปรแกรม Turnitin ซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ ในการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา แต่โปรแกรมดังกล่าวยังมีข้อเสียคือ จะมีเฉพาะผลงานทางวิชาการจากนักวิชาการ หรือวารสารต่างประเทศซึ่งเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ขณะที่โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ของจุฬาฯ จะมีภาษาไทยด้วย แต่ส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษอาจจะมีน้อย ดังนั้น หากใช้ทั้งสองโปรแกรมตรวจสอบการคัดลอกผลงานน่าจะมีความครอบคลุมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอยากให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นหน่วยงานกลางทำเครื่องตรวจสอบวิทยานิพนธ์และทำฐานข้อมูลกลางจัดเก็บวิทยานิพนธ์จากทั่วโลก เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ และเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถใช้บริการได้อย่างสะดวกมากขึ้น เพราะปัจจุบันมหาวิทยาลัยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้โปรแกรมที่ซื้อมาจากต่างประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนบาท อธิการบดีนิด้า กล่าวว่า แม้มหาวิทยาลัยต่างๆ จะพยายามพัฒนาระบบการตรวจสอบการคัดลอกผลงานทางวิชาการให้เข้มข้นมากขึ้น แต่ยังพบว่าการรับจ้างทำวิทยานิพนธ์ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องเร่งแก้ไข เป็นผลมาจากการที่มหาวิทยาลัยเปิดสาขาวิชาเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้สิ่งเหล่านี้ไม่ลดน้อยลงเลย แต่กลับจะเพิ่มมากขึ้นและยากแก่การตรวจสอบ และเครื่องตรวจสอบวิทยานิพนธ์สามารถตรวจสอบได้เฉพาะผลงานที่ลอกเลียนมาเท่านั้น ไม่สามารถเช็กได้ว่าเป็นการจ้างทำ ดังนั้น ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ มหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษา และคณะกรรมการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ จะต้องเข้มงวดในกระบวนการตรวจสอบความถูกต้อง และมีการซักถามข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียด เพราะหากนักศึกษาทำงานด้วยตัวเองจะสามารถอธิบายรายละเอียดได้ไม่ติดขัด
ด้านนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า มธ. ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาระบบตรวจสอบการคัดลอกผลงานวิชาการ หรือ Mycat (มายแคท) เพื่อตรวจสอบวิทยานิพนธ์ บทความทางวิชาการของนักศึกษาและอาจารย์ จะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป ทั้งนี้กระบวนการในการตรวจสอบวิทยานิพนธ์จะเริ่มจากนักศึกษาส่งไฟล์ร่างวิทยานิพนธ์เข้าสู่ระบบ จากนั้นระบบจะประมวลผลออกมาว่า วิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวคัดลอกผลงานผู้อื่นในสัดส่วนไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์รวมทั้งมีการคัดลอกในข้อความใดบ้าง โดยใช้แถบสีป้ายที่ข้อความนั้น และส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาพิจารณาว่าจะให้วิทยานิพนธ์เล่มนี้ผ่านหรือไม่ โดยเร็วๆ นี้จะหารืออีกครั้งว่า การคัดลอกในสัดส่วนเท่าใดถึงจะให้วิทยานิพนธ์ฉบับนั้นตกหรือผ่าน แต่โดยทั่วไปในต่างประเทศจะกำหนดว่า หากคัดลอกเกิน 20% จะถือว่าไม่ผ่าน ระบบนี้จะประมวลผลออกมาชัดเจนว่ามีการลอกข้อความในส่วนใด มาจากเล่มใดบ้าง ซึ่งระบบนี้ได้บรรจุวิทยานิพนธ์และบทความทางวิชาการต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ดังนั้น ไม่ว่าจะคัดลอกมาจากเล่มใด ระบบนี้จะตรวจสอบได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การทำวิทยานิพนธ์นั้นไม่ได้หมายความว่าจะลอกไม่ได้ แต่การลอกต้องอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่นำมาใช้ด้วย นายสมคิดกล่าว นายสมคิดกล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าปัจจุบันอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ในหลายมหาวิทยาลัยนิยมให้บัณฑิตระดับปริญญาตรีมาช่วยอ่านวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาโทนั้น ที่ผ่านมายังไม่เคยได้ยินข่าวนี้ แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่นักศึกษาระดับปริญญาตรีจะมาอ่าน หรือตรวจวิทยานิพนธ์ของปริญญาโท แต่หากให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีมาช่วยตรวจคำถูกคำผิดก็อาจเป็นไปได้ ส่วนปัญหาการจ้างทำวิทยานิพนธ์นั้น ใน มธ. ค่อนข้างจะมีน้อย เพราะมีระบบตรวจสอบวิทยานิพนธ์ที่ค่อนข้างเข้ม โดยอาจารย์จะมีการสอบถามรายละเอียด หากใครไม่ทำเองจะไม่สามารถตอบคำถามได้
ที่มา ทรานสปอร์ต เจอร์นัล |
โพสเมื่อ :
03 ก.ค. 57
อ่าน 2417 ครั้ง คำค้นหา :
|
|