ชู 'ปฏิรูปการศึกษา' เน้นเริ่มที่จุดปฏิบัติ ก่อนส่งต่อนโยบาย



ที่ปรึกษา คสช.ด้านการศึกษาเผยโรดแม็ป "ปฏิรูปการศึกษาไทย" หลังร่วมมือกับนักการศึกษาฟินแลนด์ ได้ข้อสรุป 2 จุด ปรับโครงสร้าง และพัฒนาโรงเรียน เล็งทดลอง 800 โรงในปีแรก เน้นปฏิรูปแบบล่างขึ้นบน และเริ่มที่จุดปฏิบัติ ระบุ หากพลาดโอกาสไม่ได้ พร้อมจ่อเสนอแผน รมต. ชี้ฟินแลนด์มีนโยบายการศึกษาชัด ขณะคืบหน้ากรรมการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ ได้ชื่อแล้วส่วนหนึ่ง ย้ำต้องเป็นองค์กรอิสระ...

ในการประชุมปฏิบัติการ โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศฟินแลนด์ และประเทศไทย ด้านการปฏิรูปการศึกษา และพัฒนาโรงเรียน "Project for Change" ที่โรงเรียนรุ่งอรุณ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.-2 ก.ย.57 ที่ผ่านมานั้น

รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ด้านการศึกษา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิด เผยว่า ขณะนี้ได้รวบรวมความเห็นจากทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสถาบันอาศรมศิลป์ มูลนิธินโยบายสาธารณะไทย มูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ มูลนิธิอีดีพี มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันคีนันแห่งเอเชีย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน Future Education Center (FEC) และสถาบันคลองสมองแห่งชาติ จัดโครงการนี้ และได้เชิญ ศ.ดร.เอรโน่ เละติเน่น จากมหาวิทยาลยตุรกุ ประเทศฟินแลนด์ ร่วมแลกเปลี่ยนและสะท้อนความคิดเห็นต่อการปฏิรูปการศึกษาไทย ซึ่งการโครงการดังกล่าว ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.-2 ก.ย.57 ซึ่งได้ข้อสรุป 2 ระดับ คือ

1. ระดับเชิงโครงสร้าง ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ ตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และโรงเรียน เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจให้มากขึ้น ซึ่งต้องไปปรับแก้กฎหมายต่างๆ และอาจต้องทำงานกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมด้วย ทำให้ต้องจัดตั้ง "คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ (National Education Reform Commission)" เพื่อเป็นองค์กรระดับชาติ ก่อนคลอดนโยบายที่พัฒนาคน ตั้งแต่ปฐมวัย พื้นฐาน อาชีวะ และตลอดชีวิต เพื่อให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ กรรมการปฏิรูปฯ จะต้องมีอิสระพอสมควร รวมถึงต้องทำงานร่วมกับทั้งภาคราชการ และประชาสังคมได้ ซึ่งรูปแบบการปฏิรูปใหม่ ไม่เหมือนที่ผ่านมา ที่เริ่มต้นจากส่วนราชการ โดยขณะนี้ ได้รายชื่อกรรมการปฏิรูปฯ แล้วประมาณ 20 รายชื่อ และมีตัวแทนจากภาคราชการบางส่วน

2. ระดับปฏิบัติการ เป็นการเข้าไปพัฒนาโรงเรียนที่จะทำการทดลองในปีแรก จำนวน 800 โรงเรียน ซึ่งเป็นทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก และขนาดกลางที่สมัครใจ ซึ่งก็จะมีพี่เลี้ยงเข้าช่วย และดูแล โดยเฉพาะการโค้ชครูให้รู้ว่าควรสอนแบบใดให้ได้ผล จะดูแลเด็กอย่างไร โดยไม่มีการนำครูออกมาอบรมนอกสถานที่ ทั้งนี้ มีหลายโมเดลที่จะใช้ เช่น โมเดลของ มีชัย วีระไวทยะ ที่เหมาะสมกับภาคชนบท คือ การสอนให้เด็กมีอาชีพ พึ่งพาตัวเองได้ หรือโมเดลของการให้พี่สอนน้อง หรือนำติวเตอร์ของโรงเรียนดังมาช่วยสอน ซึ่งแต่ละแนวทาง แต่ละโรงเรียนจะเลือกเข้ามาเอง เพื่อให้เข้ากับบริบทของโรงเรียน เพราะต้องการให้โรงเรียนเป็นตัวของตัวเอง และจัดการตัวเองได้

(ซ้าย) รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ (ขวา) ศ.ดร.เอรโน่ เละติเน่น จากมหาวิทยาลยตุรกุ ประเทศฟินแลนด์

อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนกับนักการศึกษา ประเทศฟินแลนด์นั้น ข้อดีที่ควรนำมาปรับใช้กับประเทศ รศ.ประภาภัทร กล่าวว่า ฟินแลนด์ใช้เวลาประมาณ 30 ปี ในการปฏิรูปการศึกษา ดังนั้น ประเทศไทยก็ต้องเวลาเช่นกัน แต่ต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ได้ก่อน ซึ่งฟินแลนด์เน้นทำให้ครูเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอน และดูแลเด็กแต่ละคนได้ ด้วยหลักที่ว่าทุกคนมีศักยภาพเท่าเทียมกันขณะเดียวกันผู้บริหารฟินแลนด์ มีนโยบายการศึกษาอย่างชัดเจนว่า จะต้องใช้พัฒนาประเทศ และต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ตรงข้ามกับประเทศไทย ซึ่งหากประเทศไทยพลาดการปฏิรูปในครั้งนี้ ก็จะไม่มีโอกาสอีกแล้ว ทั้งนี้ ข้อสรุปดังกล่าว เตรียมเสนอรัฐมนตรีใหม่ แต่ต้องการศึกษาก่อนว่า จะต้องปรับโครงสร้างในส่วนใดบ้าง อย่างไรก็ตาม แผนปฏิรูปครั้งนี้ อาจคล้ายคลึงกับแผนของกระทรวง แต่ว่าวิธีการจะคนละแบบ คือ จะเน้นการปฏิรูปจากล่างขึ้นข้างบน

ด้านนางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาในระดับโรงเรียน คือ การปฏิรูปในจุดปฏิบัติ ซึ่งมีความสำคัญ นอกจากนี้ การปฏิรูปจะต้องไม่ผลักภาระให้กับฝ่ายการศึกษาอย่างเดียว แต่หลายภาคส่วน ทั้งพ่อแม่ ครอบครัว ผู้ประกอบการ และประเทศ ต้องร่วมมือกัน เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ที่อยู่นั้น ต้องการกำลังพลแบบไหน มีสถานประกอบการประเภทใด จากนั้นจึงลุกขึ้นมาทำอย่างจริงจัง เพราะทุกวันนี้ การศึกษาไม่ใช่เพียงรู้หนังสือ แต่หมายถึงต้องทำงานเป็น เป็นผู้เชี่ยวชาญในสถาประกอบการ ซึ่งตอนนี้ถือว่าเป็นการปฏิรูปในวิกฤติของการศึกษาไทย เพราะผลิตบุคลากรไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม อยากเห็นการปฏิรูปการศึกษา และการสนับสนุนให้พัฒนาคุณภาพของคนไทย รวมถึงพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น.


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

โพสเมื่อ : 04 ก.ย. 57   อ่าน 1440 ครั้ง      คำค้นหา :