ดันกม.จัดตั้งสถาบันเทคโนฯการศึกษา รวบไอที5แท่งศธ.เป็นหนึ่งเดียว ชี้ทุกวันนี้กระจัดกระจายไร้ประสิทธิภ



กฤษณพงศ์เตรียมผลักดัน พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา รวบระบบไอทีของทั้ง ศธ. สพฐ. สกอ. และ สกอ.ให้เป็นระบบเดียวกัน ชี้ทุกวันนี้ไม่เป็นระบบ กระจัดกระจาย ต่างคนต่างทำ มั่นใจกฎหมายผ่านแน่ในรัฐบาลนี้ หลังจากค้างเติ่งตั้งแต่ปี 2542
   

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศธ. ได้มีการมอบนโยบายว่านอกจากการทำงานในองค์กรและภารกิจหลักแล้ว ยังต้องสามารถบูรณาการการทำงานข้ามแท่งด้วย พร้อมกับมอบหมายให้ตนรับผิดชอบดูแลหลักสูตรการวัดผลประเมินและระบบไอซีที เพื่อการศึกษา โครงการขยายผลการศึกษาทางทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล โดยเฉพาะระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ศธ.
   

ขณะนี้ระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งหมดของ ศธ.มีอยู่ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ระบบ UniNet ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ระบบ MoeNET ของสำนักงานปลัด ศธ. และระบบ OBEC Channel ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ยังกระจัดการะจายอยู่ ทำให้การทำงานไม่เป็นระบบ ยากต่อการส่งเสริมพัฒนา ดังนั้นจึงมองว่าหากนำโครงข่ายทั้งหมดมาอยู่ในร่มเดียวกัน คือการดูแลในรูปของสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา น่าจะทำให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาระบบ UniNet ของ สกอ.นั้น ถือเป็นระบบใหญ่ที่มีการพัฒนาและเชื่อมโยงสัญญาณไปยังมหาวิทยาลัย, วิทยาลัยอาชีวศึกษา 600-700 แห่ง และโรงเรียนของ สพฐ.อีกกว่า 7,000 โรง 
   

ขณะที่ระบบอื่นๆ จะค่อนข้างใช้กับเฉพาะหน่วยงาน ดังนั้นหากจะทำให้ทุกระบบมาเชื่อมโยงก็ต้องมาบริหารจัดการร่มใหญ่ภายใต้ สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จะต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2542 ให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งมีความพยายามที่จะผลักดันมาหลายรัฐบาล แต่ก็ยังไม่สำเร็จ แต่เชื่อว่าน่าจะสำเร็จได้ในรัฐบาลนี้ เพราะเป็นรัฐบาลเดียว ไม่เหมือนรัฐบาลอื่นๆ ที่มีหลายพรรคการเมือง มีหลายกลุ่ม 
   

รมช.ศธ.กล่าวต่อว่า ตนทราบว่าก่อนหน้านี้ ศธ.ได้เสนอกฎหมายที่ค้างอยู่ไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว ซึ่งร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ก็เป็น 1 ใน 3 ของร่างกฎหมายเร่งด่วนด้วย และในขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดทิศทางหรือแนวทางของระบบ UniNET อย่างชัดเจน แต่มีเป้าหมายว่าจะใช้ระบบ UniNET มาเป็นถนนเส้นใหญ่และเป็นช่องทางให้สถานศึกษาอื่นๆ สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่กว่าที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกันต้องเพิ่มมาตรการในเรื่องระบบการป้องกันข้อมูล ที่อาจจำเป็นต้องพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มาใช้ติดตามการโพสต์ข้อความ หรือการกระทำที่อาจผิดกฎหมายได้ เป็นต้น และอย่ามองแต่ในด้านการให้บริการเท่านั้น แต่จะต้องมีความพร้อมในการอบรมและทำวิจัยเกี่ยวกับโครงการนี้ด้วย เพื่อประสานเชื่อมโยงโครงการในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นไปในทางเดียว กัน.

 

 

 

ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 25 กันยายน 2557


โพสเมื่อ : 25 ก.ย. 57   อ่าน 1689 ครั้ง      คำค้นหา :