การกลั่นแกล้งกล่าวหา ร้องเรียน หรือฟ้องร้องผู้อื่นโดยปราศจากความเป็นจริงมีผลอย่างไร



สวัสดีค่ะ เพื่อนข้าราชการครูและ บุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน พบกันอีกเช่นเคยค่ะ สำหรับครั้งนี้ดิฉันขอนำเสนอกรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากระทำการ กลั่นแกล้งกล่าวหา ร้องเรียน หรือฟ้องร้องผู้อื่นโดยปราศจากความเป็นจริงมาบอกเล่าให้ฟัง ซึ่งการกระทำดังกล่าวถ้าเป็นเหตุให้ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งกล่าวหา ถูกร้องเรียน หรือถูกฟ้องร้องได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง พฤติการณ์ของผู้กระทำเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547

ดิฉันขอยกอุทาหรณ์ที่เป็นเรื่องจริงมาเล่าให้ฟังดังนี้ นาย ก ตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนถูกผู้บังคับบัญชามีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ สืบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งย้ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการโดยมีมูลเหตุจาก การร้องเรียนของประชาชนในเขตบริการของโรงเรียน ต่อมา นาย ก ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้ยกเลิกคำสั่งย้าย และนำเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องคดีอาญาโดยฟ้อง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง รวมสิบคน ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบและฐาน ทำเอกสารราชการอันเป็นเท็จ โดยปรากฏหลักฐานชัดแจ้งทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลว่า ก่อนฟ้องคดีอาญา นาย ก ทราบแล้วว่ามีประชาชนมาร้องเรียนตน และนาย ก ก็ได้ไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสืบสวนด้วย แต่นาย ก กลับฟ้องบุคคลอื่นเป็นคดีอาญาและบรรยายฟ้องโดยกล่าวข้อเท็จจริงว่าไม่มี ประชาชนในเขตบริการของโรงเรียนมาร้องเรียนตน และนอกจากนี้ นาย ก ยังเบิกความเท็จในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง สนับสนุนคำฟ้องเท็จของตนอีกครั้ง

ซึ่งในเวลาต่อมาว่าศาลจังหวัด ข พิพากษายกฟ้องของนาย ก และนาย ก ถูกดำเนินการทางวินัย โดยผู้บังคับบัญชาและ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เห็นว่านาย ก กระทำโดยมีเจตนาไม่สุจริต มิใช่เป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยชอบ ผลแห่งการกระทำของนาย ก ย่อมกระทบต่อชื่อเสียง เกียรติศักดิ์ และตำแหน่งหน้าที่ราชการของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีบางคนต้องเสียสิทธิในการเข้าสอบเพื่อบรรจุในตำแหน่งผู้ช่วยผู้ พิพากษาเพราะเหตุที่ถูกฟ้องคดีครั้งนี้ และทุกคนต้องถูกจำขังเป็นระยะเวลาหนึ่ง ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในร่างกายต้องขวนขวายหาผู้ค้ำประกันหรือหลักทรัพย์มา ประกันตนเพื่อให้ได้อิสรภาพ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี เพราะเหตุแห่งการกระทำโดยไม่สุจริตของนาย ก เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีจำนวนถึงสิบรายได้รับความเสียหายอย่าร้ายแรง พฤติการณ์ของนาย ก เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา พิจารณาแล้วมีมติลงโทษไล่ นาย ก ออกจากราชการ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจึงมีคำสั่งลงโทษไล่ นาย ก ออกจากราชการตามมติ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ดังกล่าว

ต่อมา นาย ก จึงยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.ค.ศ. อ.ก.ค.ศ.วิสามัญ เกี่ยวกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ (ที่ทำการแทน ก.ค.ศ.) ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งลงโทษไล่ นาย ก ออกจากราชการนั้น เหมาะสมกับกรณีความผิดแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกอุทธรณ์ (คือยืนยันโทษไล่ออกจากราชการตามเดิม)

ดิฉันขอเรียนย้ำเตือนเพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า การเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ ดีต่อผู้เรียน ชุมชน สังคม มีความสุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้เรียนและข้าราชการด้วย กัน ต้อนรับให้ความสะดวก ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เรียนและประชาชนผู้มาติดต่อราชการ ไม่กลั่นแกล้ง ดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ หรือข่มเหงผู้เรียนหรือประชาชนผู้มาติดต่อราชการนะคะ แล้วพบกันใหม่วันจันทร์หน้าค่ะ

ศิริพร กิจเกื้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.



ที่มา มติชน วันจันทร์ ที่ 15 ธันวาคม 2557


โพสเมื่อ : 05 ม.ค. 58   อ่าน 2502 ครั้ง      คำค้นหา :