ตั้งเป้า 3 ปีไร้ปัญหาลอกวรรณกรรม ดึง 17 ม.ตรวจสอบผ่านอักขราวิสุทธิ์
ตั้งเป้า 3 ปีไร้ปัญหาลอกวรรณกรรม ดึง 17 ม.ตรวจสอบผ่านอักขราวิสุทธิ์
จุฬาฯ ตั้งเป้า 3 ปี ไร้ปัญหาลอกเลียนวรรณกรรม จับมือมหาวิทยาลัย 17 แห่ง ตรวจสอบผ่านโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ของจุฬาฯ หวังมีฐานข้อมูลเยอะ ลดปัญหาการลอกเลียน เผยล่าสุดเป็นปัญหาข้ามชาติ หลังพบมีการลอกเลียนผลงานของจุฬาฯ โดยผู้คัดลอกอยู่ในประเทศทางตะวันออกกลาง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.อมร เพชรสม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยจุฬาฯ พร้อมด้วยอธิการบดี 17 แห่ง ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการ การตรวจสอบการลอกเลียนงานวรรณกรรม ด้วยโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ โดย ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยมีนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการลอกเลียนงานวรรณกรรม ทั้งการเขียนวิทยานิพนธ์ของบัณฑิตจุฬาฯ โดยพัฒนาโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ เพื่อมาตรวจสอบผลงาน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 และมีการนำวิทยานิพนธ์ของบัณฑิตจุฬาฯ มาบรรจุเป็นฐานข้อมูลสำหรับการตรวจสอบกว่า 1 หมื่นเล่ม โดยเป็นวิทยานิพนธ์ตั้งแต่ปีการศึกษา 2548 ถึงปัจจุบัน เนื่องจากจุฬาฯ ต้องการให้บัณฑิตจบอย่างมีคุณภาพ ที่ผ่านมาพบว่า นิสิตอาจเขียนผลงานโดยนำข้อมูลมาใช้ แต่ไม่ได้อ้างอิงที่มา ซึ่งอาจเกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มาตรการดังกล่าวจึงเป็นการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของบัณฑิตทุกคน หากพบว่ามีการคัดลอกก็ต้องมีการแก้ไขให้ถูกต้อง และปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป จะนำโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์มาใช้ในการตรวจสอบสารนิพนธ์ของนิสิต รวมถึงอาจารย์จุฬาฯ ก็ยังใช้โปรแกรมนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในครั้งนี้ เพื่อให้การตรวจสอบผลงานวรรณกรรม วิทยานิพนธ์ ของนิสิตขยายวงกว้าง และมหาวิทยาลัยอื่นๆ สามารถใช้โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ในอนาคตเด็กไทยจะต้องเป็นคนที่ซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นเคยกับการตัดแปะข้อมูลในการเขียนรายงานหรือทำการบ้านตั้งแต่เด็ก โดยไม่บอกที่มา แต่จากนี้ไปต้องอ้างอิงข้อมูลที่มาให้ถูกต้อง ด้าน รศ.ดร.อมร กล่าวว่า การลอกเลียนวรรณกรรมเป็นปัญหาที่สร้างความปวดหัวให้แก่สถาบันการศึกษาเป็นอย่างมาก ในส่วนของจุฬาฯ นั้น เดิมตรวจสอบด้วยโปรแกรมเทิร์นอิทอิน (Turnitin) แต่เนื่องจากเป็นฐานข้อมูลต่างประเทศ จึงใช้คู่กับโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ซึ่งตั้งเป้าหมายว่า อีก 3 ปี เมื่อจุฬาฯ ครบรอบ 100 ปี ต้องไม่มีปัญหาการลอกเลียนวรรณกรรมอีก สำหรับการลอกเลียนวรรณกรรมในนิสิตจะเป็นในรูปแบบลอกเลียนงานของรุ่นพี่ กรณีล่าสุด อาจารย์จุฬาฯ ตรวจพบว่า มีการลอกเลียนผลงานของจุฬาฯ โดยผู้คัดลอกอยู่ในประเทศทางตะวันออกกลาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบและดำเนินการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาข้ามชาติ ส่วนโทษของการลอกเลียนวรรณกรรมร้ายแรงสุดก็จะเป็นการถอดใบปริญญา เพราะเป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายให้แก่ทั้งตัวบัณฑิตและสถาบัน อย่างไรก็ตาม ภายหลังการลงนามร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 17 แห่ง จะทำให้มีฐานข้อมูลในการตรวจสอบกว้างขวางมากยิ่งขึ้น จากเดิมอาจตรวจสอบการคัดลอกในจุฬาฯ เท่านั้น แต่จากนี้ไปจะสามารถตรวจสอบข้ามมหาวิทยาลัยได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก |
โพสเมื่อ :
26 มิ.ย. 57
อ่าน 1502 ครั้ง คำค้นหา :
|
|